"นิ้วกลม"บอก

ความฝันไม่มีขาเหมือน"โตเกียว"ต้องเดิน ไปหา
เปรียบแรงบันดาลใจเหมือน"อุจจาระ"
"..พอได้ปล่อยออกมาจะมีความสุขมาก
แต่เราต้องหาอะไรใส่เข้าไปก่อน ถึงจะเบ่งออกมาได้"

"นิ้วกลม" หรือชื่อจริง "สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์"
นักเขียนรุ่นใหม่ขวัญใจเด็กแนว
เจ้าของผลงานเขียน 15 เล่ม ภายใน 5 ปี
หากจะไล่เรียงผลงาน "นิ้วกลม" ก็มีอยู่มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเชิงท่องเที่ยวอย่าง "โตเกียวไม่มีขา"
ที่ให้ข้อคิดว่าโตเกียวก็เป็นอีกหนึ่งความฝัน
และโตเกียวก็ไม่มีขาจึงเดินมาหาเราไม่ได้
แต่เรามีขาต้องเป็นฝ่ายเดินไปหาเอง "กัมพูชาพริบตาเดียว"
"เนปาลประมาณสะดือ" หรือ "อิฐ"
หนังสือรวมเรื่องสั้นแนวทดลอง
ก่อนจะมาเล่าเรื่องราวความรักของตัวเองผ่าน
"soundtrack of my love"
จนมาถึงผลงานล่าสุด "อาจารย์ในร้านคุกกี้"
นอกจากนี้ เขายังได้เลื่อนขั้นเป็นผู้กำกับโฆษณา
รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ในมติชนสุดสัปดาห์ด้วย

"นิ้วกลม" เล่าถึงที่มาของนามปากกา
"เริ่มมาตั้งแต่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ได้เขียนบทความลงในเว็บบอร์ด
แล้วเห็นนามปากการุ่นน้องว่าตัวกลม
แล้วเห็นนิ้วตัวเองที่พิมพ์อยู่ก็กลมดี
ก็เลยใช้นามปากกานิ้วกลมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตอนนั้นเป็นช่วงที่หนังสือทำมือมาแรง
ผมกับเพื่อนก็เลยรวมเล่มหนังสือทำมือไปวางขาย
แล้วหนังสือของผมก็ไปตกอยู่ในมือของ
พี่โหน่ง วงศ์ทนง (ชัยณรงค์สิงห์)
ขณะที่เป็น บก.นิตยสารอะเดย์
พี่โหน่งเรียกเข้าไปคุย พอยิ่งเขียนก็ยิ่งสนุก
ผมพยายามหาความสนุกในข้อจำกัดเสมอ
ผมเป็นคนชอบคิด ชอบตั้งคำถาม
ไม่พอใจกับกฎเกณฑ์ที่กำหนด เคยตั้งคำถามว่า
ทำไมเราตอนเป็นนักเรียนต้องตัดผมเหลือ 3 เซนติเมตร
ทำไมกางเกงนักเรียนถึงใส่ยาวใต้เข่าไม่ได้ มีครั้งหนึ่งตอนเรียนฟิสิกส์
เคยใช้ปากกาเมจิกเขียนรายงานใส่กางเกงยีนส์สีส้มสะท้อนแสงส่งให้อาจารย์
ขณะที่เพื่อนเขียนใส่กระดาษเย็บเล่มส่งธรรมดา"

วิธีการหาแรงบันดาลใจ

"แรงบันดาลใจก็เหมือนอุจจาระ พอได้อ่านได้เห็นอะไรเยอะก็เหมือนเราได้กินเยอะ
พอสะสมไว้ในลำไส้ใหญ่ พอได้ปล่อยออกมาจะมีความสุขมาก
แต่เราต้องหาอะไรใส่เข้าไปก่อน ถึงจะเบ่งออกมาได้
บางครั้งก็หยิบหนังสือที่เราเคยจดไว้
เหมือนแคปซูลในเรื่องดราก้อนบอล
พอเจอเรื่องที่ถูกใจก็จดๆ ไว้
พอจะใช้ก็หยิบออกมาทุ่มลงพื้น
แล้วจะมีควันฟุ้งออกมา
คนเขียนหนังสือถ้าเขียนไปเรื่อยๆ
เหมือนได้เหลาหัวให้แหลม
ยิ่งได้คิดโฆษณาเจอโจทย์ใหม่ทุกครั้ง
เราก็ได้ใช้หัวคิดไปเรื่อยๆ"

กล่าวทิ้งท้ายถึงคนอ่าน

"ไม่ว่าเราอยากจะทำอะไรหรืออยากเป็นอะไร
เริ่มต้นด้วยความอยากทั้งนั้น จากนั้นต้องเดินหน้า
และลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ
เพราะว่าความฝันไม่มีขา
ฉะนั้น จะเดินมาหาเราไม่ได้
เรามีขาต้องเดินไปไขว่คว้าความฝันเอง
เหมือนที่โตเกียวไม่มีขา"
"โครงการที่ไม่น่าสนใจ"
คอลัมน์ คุยกับประภาส หนังสือพิมพ์มติชน
โดย ประภาส ชลศรานนท์
www.prapas.com

ถึงพี่ประภาส

น้องชายดิฉันจบด้านสื่อสารมวลชน ตอนเรียนเขาก็ดูไฟแรงดี พอ จบมาแล้วกลายเป็นคนขี้เกียจไปได้ยังไงไม่รู้ พยายามบอกให้เขาลุกขึ้นทำอะไรบ้าง แม่ก็อยากให้ไปทำงานบริษัท เขาก็บอกว่าไม่อยากเป็นลูกน้องใคร บอกให้ลองลงทุนทำอะไรเองหรือไม่ก็คิดเรื่องใหม่ๆ หรือแต่งเพลงออกมาสักม้วนอย่างที่เคยทำสมัยเรียน เขาก็เอาแต่กวนประสาทบอกว่าสมัยนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน คิดอะไรไปก็มีคนทำหมดแล้ว เพลงรักเพลงเพื่อชีวิตก็ถูกแต่งหมดแล้ว ไม่รู้จะแต่งอะไรอีก จะให้ค้าขายอะไรเขาก็บอกว่าอันนี้ก็ทำไม่ได้อันนั้นก็ไม่น่าทำ ฟังแล้วท้อค่ะ บางทีดิฉันมีโปรเจ็คท์ดีๆไปชวนเขาทำ เขาก็เบรคเราเสียเราเองก็ไม่กล้าทำตามเขาไปเลย พี่ประภาส พอจะมีอะไรแนะนำให้ต่อกรกับคนแบบนี้บ้าง

นุช


เคยได้ยินประโยคทำนองนี้กันบ้างไหมครับ บทสนทนาในละครฉากเล็กๆของชีวิตจริง

........................................

ลูกชาย -- "พ่อ เห็นตึกสี่ชั้นที่อยู่หน้าหมู่บ้านนั่นไหม เขาติดประกาศขายแล้ว ไม่ไกลจากบ้านเราด้วย หน้ามันกว้างดี จอดรถน่าจะได้สองคันสบายๆเลยนะพ่อ"

พ่อ --"ไหน ...หลังไหน ร้านหนังสือเก่านั่นน่ะเหรอ ละเมอไปหรือเปล่า อย่างเราจะมีปัญญาไปซื้ออย่างไรไหว"

ลูกชาย --"ลองโทรไปถามหน่อยไม่ดีหรือ เผื่อเอาเข้าแบ๊งค์แล้วขยับขยายร้านได้ใหญ่ขึ้น"

พ่อ --"เสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์เปล่าๆ ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเถอะ"

........................................

สามี --"ไปเที่ยวยุโรปกันไหม กลางๆปีเขาว่าไม่หนาวมาก อยากไปเห็นเมืองนอกบ้าง"

ภรรยา --" ไปต่างประเทศ คุณจะมีเวลาหรือ แล้วเรื่องเงินอีก ไหนจะค่าตั๋ว ค่าที่พัก แล้วยังต้องซื้อของฝากคนอื่นอีกล่ะ โอย...ยุ่งยากเปล่าๆ อย่าคิดอะไรเกินตัวนักสิ

.......................................

น้อง --"พินัยกรรมสรุปออกมาแล้ว คุณป้าท่านยกเงินให้เราแสนหนึ่งแน่ะ"

พี่ --"แสนหนึ่ง ค่าทนาย ค่าธรรมเนียม แล้วก็ต้องผ่อนรถที่เหลืออีกสามสี่เดือน จะไปเหลือสักเท่าไร ไม่เห็นน่าดีใจเลย"

........................................

อาจารย์ที่ปรึกษา --"อีก อาทิตย์เดียวก็สอบใหญ่แล้วนะ เธอนอนอยู่โรงพยาบาลนานขนาดนั้น ขาดเรียนสิบกว่าครั้งอย่างนี้ อ่านทวนเยอะๆหน่อยก็ดี ข้อสอบปีนี้ไม่ง่ายนะ"

นักศึกษา --" อ่านอย่างไรอ่านก็ไม่ทันแล้วครับ หนังสือตั้งเกือบสิบเล่ม อาทิตย์เดียวจะไปอ่านทันได้อย่างไร... ช่างมันเถอะครับอาจารย์ มันจะตกก็ให้มันตกไป อ่านไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว"

........................................


บางทีผมก็แอบเรียกคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างนี้ว่า "นักฆ่าความฝัน"


ใน สังคมรอบๆตัวท่านผู้อ่านก็คงมีให้เห็นบ้างละครับ ทั้งแบบนักฆ่าสมัครเล่นที่มองอะไรก็เห็นว่าเป็นไปไม่ได้หมด กับพวกนักฆ่ามืออาชีพ พวกนี้ต่างจากพวกสมัครเล่นก็คือไม่เพียงแต่มองไม่เห็นความเป็นไปได้แค่นั้น พวกนี้ยังออกโรงออกแรงค้านอย่างจริงจังจนทุกโครงการที่นักฝันคนไหนก็ตามเสนอ ขึ้นมา เป็นหมันตั้งแต่ออกจากปากแล้ว

คุณ นุชเขียนมาขอวิธีต่อกรกับพวกฆาตกรความฝัน ยอมรับครับว่าทุกวันนี้ผมก็ยังผจญภัยกับคนเหล่านี้อยู่ วิธีคิดของผมก็คือ อย่ามองเขาเป็นศัตรู มองเขาเป็นเพื่อนมองเขาเป็นฝ่ายค้านที่มาช่วยติงช่วยติ

แต่อย่ายอมให้เขาฆ่าความฝันเราได้นะครับ



ที่สำคัญที่สุดหากเราทำให้ฝันที่เขาคิดว่าเป็นจริงไม่ได้สำเร็จเป็น รูปเป็นร่างให้เขาเห็นได้บ่อยๆ ต่อไปเขาก็จะไม่กล้าฆ่าความฝันใคร แม้แต่ของตัวเอง


มี กรณีศึกษาจากนักจิตวิทยาที่ผมเคยอ่านเจอ นักฆ่าความฝันพวกนี้มักมีปมในวัยเด็กกับประสบการณ์แย่ๆ เช่น พ่อกับแม่ชอบสัญญิงสัญญาอะไรกับเขาแล้วไม่เคยทำได้สักครั้ง คงเคยเห็นใช่ไหมครับพ่อแม่ที่รับปากลูกไปวันๆ ฝัน อันงดงามในความรู้สึกของเด็กจึงกลายเป็นฝันลมๆแล้งๆแทบทุกครั้ง หนักเข้าก็เริ่มไม่วางใจใคร สุดท้ายการมองโลกในแง่ร้ายก็เลยฝังลึกลงก้นบึ้งจิตใจ

ไม่มีอะไรแนะนำมากกว่านี้ครับ นอกจากขออนุญาตเล่าถึงโครงการแปลกๆในอดีตให้ฟังกัน ฝากเอาไปเล่าให้น้องชายคุณนุชฟังอีกต่อด้วยนะครับ

โครงการพวกนี้ล้วนเคยเป็นโครงการที่ไม่น่าสนใจแทบทั้งสิ้นครับ

อา กิโอะ โมริตะประธานฯบริษัทโซนี่ มองเห็นอีฟูกะ ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่อีกคนหนึ่งชอบหิ้วเครื่องเล่นเทปพร้อมกับหูฟังติดอยู่ ที่หูเดินไปไหนมาไหนอยู่เรื่อย จึงออกปากถามถึงเหตุผล อีฟูกะบอกว่าเขาชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เดินไปนั่งตรงไหนก็อยากเอาเพลงไปฟังด้วย แต่ไม่อยากเปิดเบาๆ และก็ไม่อยากให้หนวกหูคนอื่นจึงจำต้องใช้หูฟัง

อากิโอะ ได้ยินเข้าก็เกิดความคิดสว่างวาบขึ้นที่จะทำสินค้าออกขาย โดยคิดย่อเครื่องเล่นเทปให้เล็กลง พร้อมหูฟังที่เล็กลงด้วย

ใช่ครับ จุดกำเนิดซาวด์นอะเบ๊าท์ มันเกิดง่ายๆอย่างนี้แหละครับ

แต่ฝ่ายการตลาดไม่เห็นด้วยกับสินค้าตัวนี้ คำวิจารณ์แรงๆก็คือ "จะมีใครที่ไหนโง่มาซื้อเครื่องเล่นเทปที่ไม่มีส่วนของการบันทึกเสียง"



อา กิโอะไม่คิดอย่างนั้น เขาไม่ยอมให้ใครฆ่าความฝันของเขา เขาเชื่อว่าซาวด์นอะเบาท์นั้นมีไว้เพื่อฟังไม่ใช่เพื่ออัด การจะใส่ส่วนของการบันทึกเสียงลงไปด้วยจะทำให้เครื่องใหญ่ขึ้น และเพื่อไม่ทะเลาะกับฝ่ายการตลาด เขาขอเป้าการขายแค่เพียงปีละหนึ่งแสนเครื่องเท่านั้น และไม่ต้องทุ่มโฆษณาให้สินค้าตัวนี้มากนักด้วย ปีแรกที่วางตลาด ซาวด์อะเบ๊าท์ ทำยอดจำหน่ายให้โซนี่เท่าไรรู้ไหมครับ

สี่ล้านเครื่อง !



เรื่องราวของอากิโอะนั้นคล้ายๆกับบิล เลียร์ แต่ตอนจบกลับไม่เหมือนกัน

บิล เลียร์ คิดเรื่องวิทยุติดรถยนต์ขึ้นมาครั้งแรก คนรอบๆข้างเขาต่างรุมถล่มความฝันอันบรรเจิดของเขาอย่างหูดับตับไหม้ ความเห็นที่มองไปทางเดียวกันก็คือ "มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้คนจะติดวิทยุไว้ในรถ เพราะมันจะทำให้คนขับเสียสมาธิได้" ไม่ รู้ว่าเลียร์ไม่หนักแน่นพอหรือนักฆ่าพวกนั้นออกอาวุธหนักเสียจนเลียร์ตั้ง ตัวไม่ติด เขายอมขายความคิดนี้ให้กับบริษัทกัลวิน แมนูแฟคเตอร์ไป

หลัง จากร่ำรวยจากวิทยุติดรถยนต์ บริษัทกัลวินนี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โมโตโรลา บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งในวงการโทรศัพท์มือถือตอนนี้

พูด ถึงโทรศัพท์มือถือ นี่ถ้าเกรแฮมเบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์รู้ว่าทุกวันนี้มีคนบนโลกใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาไม่ เว้นแต่วินาทีเดียว เขาคงดีใจที่สุด เพราะตอนที่เบลล์ เพิ่งทดลองโทรศัพท์ข้ามแม่น้ำสำเร็จใหม่ๆเมื่อร้อยสามสิบปีก่อน มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งดูแคลนสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์ว่า "ของเล่นอันนี้มันก็ดีอยู่หรอก แต่มันจะใช้ทำอะไรได้"



ปีพ.ศ.2505 บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ เดคค้า เรคคอร์ด ปฏิเสธงานของวงดนตรีหน้าใหม่วงหนึ่งด้วยเหตุผลว่า "เพลงที่เล่นด้วยกีต้าร์กำลังจะหมดสมัยแล้ว" แต่ หลังจากคำพูดนั้นมาจนถึงวันนี้ วงดนตรีที่ถูกสบประมาทวงนั้นก็บรรเลงเพลงให้คนทั้งโลกฟังด้วยเสียงกีต้าร์มา ตลอดครึ่งศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ หรือใครจะเถียงว่าเดอะบี้ทเทิ้ลไม่ยิ่งใหญ่

ใกล้ๆ ตัวนี่เลยครับ จา พนมที่กำลังเนื้อหอมในต่างประเทศจากหนังเรื่ององค์บาก ก็เคยถูกคำวิจารณ์จากบริษัทเก่าที่จาเคยเซ็นสัญญาด้วยว่า "เขาไม่มีเสน่ห์พอ ถ้าจะทำหนังให้เขาเล่น เขาต้องประกบกับพระเอกที่หล่อกว่าเขา" ไม่ รู้ปรัชญา ปิ่นแก้วผู้กำกับฯองค์บากประชดประชันหรือคิดอะไรอยู่ หลังจากมาเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ เขาให้จาเล่นหนังเรื่องแรกโดยประกบกับหม่ำ จ๊กมกเสียเลย

มองคำทักท้วงเหล่านี้เป็นมิตรสิครับ แล้วเอาชนะมันให้เขาเห็น

เมื่อ 60 ปีก่อน โทมัส วัตสัน ประธานไอบีเอ็มยังเคยพูดถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเลยว่า "ตลาดของพีซีทั้งโลก น่าจะมีประมาณห้าเครื่องได้มั้ง" ดีนะครับที่สุดท้ายแล้วผู้บริหารรุ่นหลังของไอบีเอ็มไม่ได้เชื่อคำพูดของวัตสัน

ประโยคสกัดดาวรุ่งประโยคสุดท้ายครับ เป็นของนักฝันชื่อดัง บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์

ฟังประโยคนี้แล้วอย่าหัวเราะดังนะครับ บิล เกตส์ พูดไว้เมื่อปี พ.ศ.2511 คนเรานี่บางทีก็เผลอเป็นนักฆ่าความฝันของตัวเองไปเหมือนกัน เขาพยากรณ์ถึงหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในอนาคตว่า

" 640 k ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับทุกๆคน "

ที่มา http://www.prapas.com/doc_detail.php?id=16
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณพ่อหัวหน้าพรรค

สัมภาษณ์โดย ครูอุ๋ย

ตอนนี้ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

ผม เป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นก็เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยอยู่ 3 แห่ง ที่ มศว. ศิลปากร และก็เกษมบัณฑิต



ในหนึ่งวันทำอะไรบ้าง

โดย ทั่วๆ ไปแล้วเนี่ย งานการเมืองก็มักจะมีการประชุม ไม่ประชุมสภาก็ประชุมพรรค ประชุมคณะทำงาน ประชุมคณะผู้บริหารของพรรค อย่างนี้เป็นต้น รวมไปถึงสภามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นแทบจะเรียกว่าถ้าวันธรรมดาเกือบทุกวันเนี่ยประชุมไม่ครึ่งวันก็ เต็มวัน นอกจากนั้นก็จะเป็นงานบริหารทั่วไป แล้วก็รวมไปถึงงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ออกไปพบปะประชาชนในรูปแบบต่างๆ ออกไปเยี่ยมในนามพรรค ไปอภิปราย ไปสัมมนา การพบปะผู้คนที่เข้ามาเสนอข้อมูล ร้องทุกข์ ร้องเรียน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็ยังจะมีกิจกรรมในลักษณะนี้อยู่ แล้วแต่ว่าจะมีการเชิญมาหรือมีการจัดกิจกรรมในช่วงไหน อย่างไร ถ้าเป็นงานการเมืองอื่นๆ มันก็จะมีงานที่เข้ามาเป็นครั้งคราวด้วย เช่น เลือกตั้งซ่อม ประชุมสภาเป็นกรณีพิเศษบ้าง





ดูแล้วใน 7 วันเหมือนไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย

ก็ ไม่เชิงอย่างนั้นซะทีเดียว ผมว่าเกือบทุกอาชีพการงานเดี๋ยวนี้จะมองว่าเป็นงานในเวลาแบบราชการหรือเวลา แปดครึ่งถึงสี่ครึ่งหรือเก้าโมงถึงห้าโมงเนี่ย คงไม่ถนัดทีเดียว จะเห็นว่ารูปแบบการทำงานขององค์กรต่างๆ เดี๋ยวนี้บางทีเรียกว่าแทรกเข้าไปอยู่เกือบจะทุกวัน ผมเห็นบริษัทห้างร้านกิจการต่างๆ ก็ยังต้องจัดกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด เช้าตรู่หรือหลังเวลาทำงาน ดูจะเป็นเรื่องปกติ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งผมเองก็มีปรัชญาชีวิตที่ชัดเจนว่าคนเราแต่ละคนเนี่ย มันมีทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตส่วนตัว ชีวิตการงาน เราต้องมีความสมดุลตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมก็จะบริหารเวลา เพื่อมีเวลาให้กับครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาก็ต้องมีเวลาให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผมก็ยังไปส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าไม่มีงานที่ต้องออกไปต่างจังหวัด ผมก็พบว่าความ จริงการไปส่งลูกที่โรงเรียนก็สามารถทำให้เราเข้ามาทำงานได้ก่อนคนอื่นด้วย (หัวเราะ) และก็ขณะเดียวกัน งานที่สำคัญงานหนึ่งก็คือเราต้องเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ฉะนั้นก็ยังต้องพยายามกันเวลาสำหรับตัวเองในการที่จะสืบค้นข้อมูล ในการที่จะมีเวลามานั่งอ่าน นั่งคิด ในส่วนของเราเองด้วย



เวลาที่จะแบ่งให้ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเสาร์-อาทิตย์ ?

ไม่จำเป็น แต่เสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่ลูกๆ หรือภรรยาหยุด เราก็ต้องบริหารเวลาให้ได้ ใช้เวลาตรงนั้นกับครอบครัว





งานเยอะแบบนี้ดูแลสุขภาพอย่างไร

ผม ต้องยอมรับว่าการดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ยังขาดวินัยในเรื่องของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บางทีอาจจะเป็นความชะล่าใจเพราะยังคิดว่าอายุไม่มาก ตอนนี้พอเลขสี่ขึ้นก็เริ่มรู้ตัวว่าจะต้องใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ว่าสุขภาพจิตดีครับ เป็นคนไม่ค่อยเครียด ผมว่ามีส่วนอย่างมากทำให้สุขภาพโดยรวมดีด้วย ต่อไปอาจจะต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอนะครับ เพราะไม่งั้นอาจจะต้องสูญเสียวินัย ร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วเกินไป แต่ว่าเท่าที่ดูเวลาเขาเชิญไปเล่นฟุตบอลก็ยังเล่นได้อยู่ (หัวเราะ) ช่วงที่เป็นนักเรียน นักศึกษาก็จะเล่นกีฬาอยู่



ในครอบครัวดูแลสุขภาพกันอย่างไร

ลูกๆ ยังอยู่โรงเรียน เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีการออกกำลังอยู่แล้ว ส่วนภรรยาก็จะมีวินัยมากกว่าผมในการออกกำลังด้วยการเดินสายพานหรืออะไรแบบ นี้



เป็นเพราะเขามีเวลามากกว่าหรือเปล่า

เอ่อ...ผมว่าเป็นเรื่องวินัยมากกว่า (หัวเราะ)



ไม่ทราบลูกๆ ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว

15 กับ 12 ถึงโตแล้วแต่จะพูดว่าไม่ต้องดูแลมากก็คงจะไม่ได้นะครับ บางทีพ่อแม่ยุคนี้พอลูกเป็นวัยรุ่นอาจจะมีความวิตกกังวลมากขึ้นก็ได้



ในบทบาทของคุณพ่อ มีความรู้สึกอย่างไรกับการเลี้ยง ดูแลลูก

ผม อยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขา เราต้องเป็นแบบอย่างของเขา ปลูกฝังค่านิยมให้เขาได้ แต่ว่าในลักษณะที่ใกล้ชิดเราก็เป็นเพื่อนเขาได้ เพราะฉะนั้นเวลาเขามีอะไรอยากให้เขากล้าที่จะบอกเรา แล้วก็เห็นว่าเราให้ความรักและก็สนอกสนใจในสิ่งที่เขาทำ โดยไม่ไปก้าวก่ายมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเขาโตมากขึ้น



ห่วงใยลูกในเรื่องไหนมากที่สุด

ผมว่า...ธรรมชาติของคนเป็นพ่อนะครับ ก็ห่วงใยทุกเรื่อง อย่าง เช่นเวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเนี่ยเราก็จะวิตกกังวลมากกว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เองด้วยซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น และก็สังคมปัจจุบันเนี่ยมันก็มีภัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเราก็มีความเป็นห่วงเป็นธรรมดา



มีกิจกรรมที่ทำกับครอบครัวเป็นประจำหรือเปล่า

ก็ อย่างที่บอกนะครับว่า ไปส่งที่โรงเรียน ดูแลเรื่องการเรียนเขาระดับหนึ่ง เช่น ดูแลความรับผิดชอบเขาเรื่องการบ้าน การอ่านหนังสือ หรือการเตรียมตัวสอบ และก็พยายามสังเกตดูว่าเขาสนใจอะไร สามารถที่จะพูดคุยกับเขาได้ ช่วงไหนที่สามารถหยุดได้ยาวสักนิดหนึ่งก็พาไปเที่ยว อาจจะต่างจังหวัด หรือว่าต่างประเทศบ้าง แต่ว่าพอเขาโตขึ้นเนี่ย ปัญหาของการทำงานอย่างผมก็คือว่ามันตกอยู่ในสายตาของคน เขาก็จะเริ่มมีความลังเลที่จะไปไหนมาไหนกับเรา เพราะว่าเขาก็อยากจะมีความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง



การเลี้ยงลูกตอนเด็กกับตอนโตต่างกันอย่างไรบ้าง

คือ การเติบโตของคนเนี่ย มันก็ต้องการการดูแลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป คนมีลูกอ่อนก็ต้องตื่นมาชงนม ป้อนนมก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องปรับการนอนของตัวเอง พอเริ่มเข้าเรียนก็จะมีความจำเป็นที่ต้องไปดูแลเรื่องการปรับตัวองลูกๆ พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็ต้องดูเรื่องการคบหากับเพื่อน กิจกรรมต่างๆ ของเขา มันก็จะต้องการความสนใจการดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของเขา



การเป็นหัวหน้าพรรคมีผลอย่างไรกับลูก

ลูกๆ เขาเติบโตมากับการที่เห็นพ่อเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นในความรับรู้ในความทรงจำของเขาก็คือผมเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ จำความได้ ฉะนั้นชีวิตของนักการเมืองจะเป็นหรือไม่เป็นหัวหน้าพรรคมันก็เหมือนกัน เพียงแต่ความรับผิดชอบมันก็อาจจะสูงขึ้น ภารกิจมากขึ้นในบางเรื่อง แต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นเรื่องที่ถือว่าแปลกหรือเป็น เรื่องพิเศษ



ความเป็นคุณพ่อที่เป็นนักการเมืองมีผลกับลูกหรือไม่ เช่นต่อไปลูกอาจจะโตมาแบบเรา

ไม่ ครับ ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงมีความเป็นตัวของตัวเอง ผมก็ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นนักการเมือง แล้วก็ที่ผมสังเกตดูลูกๆ ก็คือความถนัด ความสนใจของเขาก็ไม่ได้ตรงกับพ่อแม่ จะหนักไปทางด้านศิลปะมากกว่า เราก็ส่งเสริม แต่ว่าที่เราเป็นห่วงก็คือความเป็นนักการเมืองก็มีผลกระทบกับเขา อย่างที่พูดไปแล้ว เช่น การสูญเสียความเป็นส่วนตัวเวลาที่เราออกไปไหนมาไหน อาชีพการเมืองเนี่ยมันเป็นอาชีพที่มีคู่แข่ง ถ้าพูดให้หนักก็คือมีศัตรู ก็มีทั้งที่คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบ ไม่ชอบ ตรงนี้มันก็กระทบกับเขาด้วย เพราะว่าเขาก็อยู่ในสังคม

ในฐานะเป็นพ่อ คิดว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสุข

หนึ่ง ต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานก่อนว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่ลูกของเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเหมือนกับเรา ทุกคนจะแตกต่างกัน มีความเป็นตัวของตัวเอง สอง ความรักความห่วงใย ถ้าเรามีความรักความห่วงใยเป็นที่ตั้ง แล้วก็อยู่บนเหตุผล ความพอดี ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นคุณ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความรักความห่วงใย แล้วก็ใช้เหตุใช้ผลกัน นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และก็สาม ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องส่งเสริมให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ที่สุดในแบบอย่างของเขา

Source: http://www.oknation.net/blog/kru-oui/2007/11/28/entry-1/comment#read


เมื่อคิดจะคุยกับ ‘นักเขียน-นักเดินทาง’ ชื่อของ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ อันเป็นนามปากกาของ ‘กาเหว่า-ชลลดา เตียวสุวรรณ’ ก็ขึ้นมาอยู่ลำดับต้นๆ เพราะ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ นับเป็น ‘ผู้หญิง(นักเขียน)นักเดินทาง’ ที่มีลีลาการเที่ยวแบบละมุมละไมเฉพาะตัว ในแบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เธอมักนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวเรื่องราวน่าสนใจระหว่างทางมาฝาก คนอ่าน และหลายครั้งที่จุดเล็กจุดน้อยเหล่านี้ ได้ ‘จุดประกาย’ ให้คนที่ติดตามอ่านงานของเธอ อยากไปเยือนเมืองต่างๆ เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเธอเคยได้ไปเยือน...

‘นัดพบนักเขียน’ ฉบับต้อนรับลมหนาวและการเดินทาง จึงขอนัดพบและพูดคุยกับ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ หรือ ‘พี่กาเหว่า’ ผู้เชื่อว่า ‘การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต’ คนนี้ค่ะ

all: นามปากกาเท่ๆ อย่าง ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ มีที่มาอย่างไรคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ถ้า เป็นคนที่อายุสัก 30 ปีขึ้นไป น่าจะเคยได้ดูละครซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘ซามูไรพ่อลูกอ่อน’ ซึ่งซามูไรพ่อลูกอ่อนนี่จะมีท่าไม้ตายชื่อ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ ตอนเด็กๆ พี่ชอบดูเรื่องนี้มาก พอโตขึ้นมาเขียนหนังสือก็รู้สึกว่า เวลาเขียนหนังสือต้องมีนามปากกา เพราะใครๆ เขาก็มีกัน ชื่อ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ ก็ผุดขึ้นมา แล้วก็ใช้มาตลอด

all: พี่อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่าคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ไม่ ได้เริ่มเขียนหนังสือด้วยความคิดว่า ‘อยากเป็นนักเขียน’ แต่เริ่มด้วยความ ‘อยากเล่า อยากเขียน’ ตอนเด็กๆ เคยอยากเป็นนักดาราศาสตร์ อยากเป็นนักการทูต เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามประสาเด็ก แต่คงเป็นอานิสงส์จากการอ่านหนังสือเยอะมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กอ่านหนังสือเยอะมาก จะกางหนังสือพิมพ์กับพื้นแล้วเข้าไปนั่งอ่านตรงกลางเล่ม ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ให้คุณตาคุณยายฟัง ที่บ้านมีหนังสือเยอะมาก ตอนเด็กๆ ไม่เคยใช้บริการห้องสมุดเลย เพราะที่บ้านหนังสือเยอะกว่า (ยิ้ม) คุณแม่จะมีนิยายเป็นตู้ๆ น้าก็จะมีหนังสือการเมืองเป็นตู้ๆ เหมือนกัน เราก็เลยอาศัยอ่านหนังสือที่บ้านนี่แหละ และสิ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อได้โดยไม่อั้นคือ หนังสือ อย่างของเล่นนี่ยังมีอั้นบ้าง อันไหนได้ อันไหนไม่ได้ แต่หนังสือซื้อได้ไม่อั้น ซึ่งที่บ้านรับนิตยสารเยอะมาก สกุลไทย ทานตะวัน บางกอก อสท. เยอะมาก และทุกวันนี้ก็ยังเยอะอยู่ (ยิ้ม) ชีวิตวัยเด็กก็เลยได้อ่านทั้งนิตยสารและนวนิยาย รู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่งก็อ่านไป ตามความเข้าใจของเราในวัยนั้นๆ

all: คิดว่าตัวเองชอบเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: น่า จะเริ่มมาจากเขียนจดหมายหาเพื่อนก่อน เพื่อนบอกว่า เขียนจดหมายสนุก แล้วก็ตอนวัยรุ่นชอบเขียนกลอนส่งไปตามรายการวิทยุที่เขาเอาไปอ่านออกอากาศ ตอนดึกๆ เราเขียนไป แล้วเขาก็อ่านออกอากาศ คือ... มันไม่ได้เขียนเพราะอยากเป็นนักเขียน มันเขียนด้วยความอยากเขียน อยากเล่า ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกนั้น ถ้าไม่มีความอยากตรงนั้น มันก็คงไม่สนุก และเขียนออกมาก็คงอ่านไม่สนุกด้วย เรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์เรื่องแรกเขียนเล่าเรื่องกิจกรรม ‘รับน้องรถไฟ’ จากหัวลำโพงไปเชียงใหม่ ตอนนั้นพี่สอบติดคณะบัญชี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่เขียนเป็นเรื่องสั้นในรูปของการเขียนจดหมายหาบก. ที่เขียนเพราะอยากเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น บก.นิตยสาร ‘ไปยาลใหญ่’ เขาก็คัดเลือกไปตีพิมพ์ เรื่องนี้ก็เอามารวมเล่มอยู่ในหนังสือ ‘สุขสันต์วันธรรมดา’

all: รู้สึกอย่างไรที่งานของตัวเองได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารยอดนิยมของวัยรุ่นในยุคนั้น
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ตอน นั้น ‘ไปยาลใหญ่’ เริ่มมีได้ประมาณปีหนึ่งแล้ว เราก็เป็นแฟนประจำ ซื้ออ่านตั้งแต่เล่มแรก พอเปิดมาเจอ.. เอ๊ย..นี่มันเรื่องของเรานี่หว่า (ยิ้ม) ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราเขียนมันคงใช้ได้ คงน่าอ่านพอประมาณ เขาถึงเอามาลง มันก็เลยทำให้เกิดแรงฮึกเหิมว่า เราคงจะเขียนหนังสือได้ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็ทำให้เราเขียนหนังสือต่อมาเรื่อยๆ

all: ทราบว่าพี่เริ่มต้นชีวิตทำงานที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ‘ไปยาลใหญ่’ ชีวิตช่วงนั้นสนุกมั้ยคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ก็สนุกนะ เหมือนไม่ได้มาทำงาน แล้วก็มีคนอ่านในช่วงนั้น ที่คิดว่าพวกเราจะตลกเหมือนในหนังสือตลอดเวลา พอมาเยี่ยมในออฟฟิศก็จะเห็นเรานั่งแกะเทปมั่ง วาดรูปมั่ง แบบว่า..ทำงานน่ะ เราไม่ได้นั่งเม้าท์กันตลอดเวลา บางคนมาเห็นก็อาจจะรู้สึกผิดหวังที่ไม่ตลกอย่างที่คิด ในออฟฟิศจะมีหนังสือเยอะมาก เป็นห้องสมุดกลางที่ใครจะยืมไปอ่านก็ได้ ส่วนมากจะเป็นสมบัติของพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) เวลาพี่จุ้ยอ่านหนังสือนี่ แกจะขีดจะเขียนความเห็นต่างๆ ไว้ในหนังสือ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย อันนี้จริง-อันนี้ไม่จริง แกจะใส่ความเห็นลงไปในหนังสือ เถียงกับหนังสือตลอด พอพวกเราเห็นก็จะชอบเอามาอ่าน แล้วพี่จุ้ยก็จะแนะนำหนังสือที่น่าอ่านให้อ่านอยู่เรื่อยๆ มันทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้น บางคนก็อาจจะชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่บางคนก็อาจจะไม่ชอบอ่านหนังสือเลย แต่พอมาเจอหนังสือที่นี่ เขาก็เกิดความรู้สึกว่า ต้องอ่านหนังสือที่นี่ให้หมด

all: นักเขียนหลายคนก็เกิดจากนิตยสารฉบับนี้
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: พอ เรามาอยู่ด้วยกัน มันก็เกิดการถ่ายเท แลกเปลี่ยนสิ่งที่อ่าน แลกเปลี่ยนความสนใจ เรื่องหนัง เรื่องละคร เรื่องเพลง เรื่องหนังสือหรือวรรณกรรมอะไรต่างๆ มันก็เลยหล่อหลอมให้คนที่ไม่เคยเขียนหนังสือรู้สึกอยากเขียน บางทีเค้าเห็นว่ามีเรื่องของพี่ได้ลงตีพิมพ์ ก็อยากเขียนมั่ง (ยิ้ม) บางคนก็ไม่ได้มาด้วยความเป็นนักเขียน อย่าง ‘โน้ส อุดม’ ‘พิง ลำพระเพลิง’ ที่เป็นฝ่ายศิลป์ ก็อยากเขียนบทกวี อยากเขียนเรื่องสั้น และวาดภาพประกอบเอง บางคนเขียนเสร็จแล้วก็เอาไปสอดไว้ใต้พิมพ์ดีดพี่จุ้ย หรือแอบเสนอต้นฉบับโดยเอาไปวางบนโต๊ะพี่จุ้ยก็มี มันก็เป็นบรรยากาศที่หล่อหลอมกันขึ้นมา

all: มาถึงเรื่องของการเขียนหนังสือกันบ้าง พี่เริ่มเขียนเรื่องท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อไหร่
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : พี่เป็นคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ ตอนเล็กๆ คุณยายก็จะชอบพาไปโน่นไปนี่ เราก็จะคุ้นกับการไม่อยู่บ้าน ไม่นอนบ้าน กินอะไรก็ได้ นอนที่ไหนก็ได้ เป็นเด็กที่มี function เหมาะกับการเดินทางมาก (ยิ้ม) ไม่เมารถ ไม่เมาเรือ ใดๆ ทั้งสิ้น พอเข้าโรงเรียนก็เริ่มไปเที่ยวกับที่บ้าน ไปกับครอบครัว ไปเข้าป่า ไปทะเล พอโตขึ้นมาหน่อยก็เที่ยวกับเพื่อน ไปภูกระดึง ไปน้ำหนาว พอไปเรียนที่เชียงใหม่ก็ยิ่งมีที่เที่ยวเยอะขึ้น ซึ่งเราไม่ได้ไปเที่ยวเพียงเพราะเรามีเวลาว่างนะ แต่เราบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราโดยเราไม่รู้ตัว จริงๆ พี่เขียนพวกเรื่องสั้น บทโทรทัศน์มาก่อน แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะเขียนเรื่องท่องเที่ยว จนกระทั่งข้อมูลมันเยอะมากๆ เข้า เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากเล่า มันน่าสนุก เราไปโน่นมา ไปนี่มา มีเรื่องอยากเล่าเยอะ ก็เลยเขียนออกมา เล่มแรกที่ออกมาคือ ‘เหยียบโลกเล่นไม่เห็นช้ำ’ หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เขียนเรื่องท่องเที่ยวอีกนะ ไปเขียนเรื่อง ‘บุคคลไม่สำคัญของโลก’ เขียน ‘เอนหลังอ่าน’ เขียนบทความ Lifestyle Essay เขียนเบื้องหลังวงการทีวี ‘งดออกอากาศ’ จนกระทั่งอยากรู้ว่าเขียนเรื่องท่องเที่ยวจะมีคนอยากอ่านรึเปล่า ก็ออกมาเป็นคอลัมน์ ‘เด็ดดอกไม้ริมทาง’

all: ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: คือ พอเขียนไปแล้วมันก็มีคนอ่าน มีคนชอบ ก็รู้สึกว่าเรื่องท่องเที่ยวมันก็น่าอ่านเหมือนกัน เลยอยากเล่าต่อ ไม่เก็บไว้แล้ว ก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ

all: ความเป็น ‘ผู้หญิง’ เคยสร้างปัญหาในการเดินทางบ้างไหมคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ที่ผ่านๆ มาก็ยังไม่เคยรู้สึกนะว่า ความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคอะไร เพราะพี่เดินทางมาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยมีการเรียนรู้ มีทักษะในการอยู่การกิน การเอาตัวรอด การหาทาง อะไรแบบนี้ เวลาไปเที่ยวพี่ก็ไม่ได้คิดว่า พี่ไปผจญภัยอะไร เพราะว่าเราก็ไปในที่ที่คนอื่นเขาก็ไปกัน ชาวบ้านเขาก็นั่งรถโดยสารคันนี้ ไม่ใช่ไปในที่ที่ไม่มีใครไป บุกป่าฝ่าดง ไม่ใช่แบบนั้น พี่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องมีข้อมูลการเดินทาง มีแผนที่ให้รู้เหนือรู้ใต้ก่อนที่จะไป และต้องสังเกตสังกาว่าชาวบ้านเขาอยู่กัน เขากินกันยังไง ไม่ใช่แบบเขาเป็นมุสลิม แล้วเราไปแต่งตัวสายเดี่ยวกางเกงขาสั้น มันก็ไม่ใช่เรื่อง

all: พี่มีวิธีเก็บข้อมูลระหว่างทางยังไงบ้างคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ไม่มี.. นี่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ (ยิ้ม) เพราะพี่ไม่ใช่คนเขียนสารคดี ที่เขาจะไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่างน้อยก็จะต้องมีแผน มีโครงว่าตรงนั้นตรงนี้มีอะไรน่าสนใจ ไปที่นี่ควรจะไปสัมภาษณ์ใคร ถ่ายรูปตรงไหนจึงจะสวย แต่พี่ไปแบบไปเที่ยว แล้วก็ไปดูว่ามันมีอะไรที่เราสนใจ พี่ไปเที่ยวเกียวโต ไปเมืองอาราชิยามะ ที่อยู่ชานเมืองที่ใครๆ ก็ไปเที่ยวกัน เราก็ไปเห็นป้ายในวัด ‘มีอาหารกลางวันแบบเซ็น’ ราคาแพงมาก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 900 กว่าบาท เราก็เออ..เป็นยังไงนะ อยากลอง เป็นความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวที่เข้ามาปะทะเรา ณ เวลานั้น ก็เลย..เอาน่ะ ลองดู ยอมทุ่มทุน... (ยิ้ม) ก็เข้าไปนั่งในห้องเรียบๆ ไม่มีอะไรเลย มีเสื่อปู ข้างนอกเป็นสวนญี่ปุ่น นิ่งๆ เงียบๆ แบบเซ็นไง (หัวเราะ) แล้วก็มีใบแนบสำรับสั้นๆ มาใบนึง ว่าหลักการกินแบบเซ็นเป็นยังไง ที่มาและความเชื่อแบบเซ็นเป็นยังไง อาหารทำมาจากอะไรบ้าง ก็เลยสนุก.. เพราะมันมีเรื่องราว มีสตอรี่ ชิมนั่น ชิมนี่ คืออาหารญี่ปุ่นมันจะมีหลายอย่าง แต่อย่างละนิด เค้าให้ข้าวมาครึ่งถ้วย เราก็คิดในใจว่า มันจะอิ่มมั้ยเนี่ย เพราะบ่ายสองแล้วยังไม่ได้กินอะไรเลย แต่ก็กินจนหมด เหลือแต่ใบไม้ที่เขาห่ออาหารมา ซึ่งมันก็อิ่มนะ วันนั้นไม่ต้องกินข้าวเย็นเลย พอกลับมาเราก็เลยเขียนเรื่อง ‘กินข้าววัด’ แทนเรื่องไปเที่ยวเกียวโต คือมันจะได้เรื่องแบบนี้มาเขียนมากกว่า ซึ่งถ้าใครมีจริตที่ตรงกับเรา เขาก็คงคิดเหมือนเราว่าเรื่องมันน่าสนใจ

all: เน้นการเก็บเรื่องราวน่าสนใจของการเดินทางช่วงนั้นๆ มาเขียนมากกว่า
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: อย่าง พี่ไปเสียมเรียบ ก็ไปเที่ยวนครวัดนครธมเหมือนกับคนอื่นๆ แต่พี่ไปเจอจุลสารท้องถิ่นใบเล็กๆ ที่เขาแจกฟรีในเกสต์เฮาส์ เขาเขียนถึงพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิด อยู่ในซอยเล็กๆ ตรงข้ามโรงแรมโซฟิเทล มีทุ่งสังหารให้ลองเดินด้วย เราก็คิดในใจว่า เออ..มันส์ดีเว้ย (ยิ้ม) ก็เลยเรียกสามล้อไป ก็ไปเจอบ้านคนเป็นแบบบ้านดินอัดแน่น เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ชายเขาก็เล่าว่าเขาเคยรบให้กับเขมร พอสงครามสิ้นสุด เขาก็ทำงานกับองค์การสหประชาชาติในการกู้ระเบิด เขาก็ออกไปกู้ระเบิดทุกวัน พอได้ระเบิดกลับมาก็ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เลยเอามาเก็บไว้ที่บ้าน สุดท้ายก็เลยเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ของตัวเอง พอกลับมาพี่ก็เขียนเรื่องไปเดินในสวนฝรั่งที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่ (ยิ้ม)

all: ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างจากนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวคนอื่นๆ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ด้วยความที่เราไปเที่ยวแบบมีเวลาซอกแซก และด้วยความสนใจของเราที่มันเป็นแบบนี้ ก็เลยได้เรื่องแบบนี้ออกมา แต่ถ้าเราไปแบบทัวร์ที่มีคนจัดการทุกอย่างให้ ก็คงไม่ได้เรื่องแบบนี้มาเขียน ถ้าไปเที่ยวแล้วต้องนั่งกินข้าวแต่ในโรงแรม พี่จะทรมานมากกกก (ลากเสียง) ต้องหาทางหนีออกจากโรงแรม ไปเดินตลาด ไปกินโจ๊ก ตรงนี้มันเป็นจริตส่วนตัว...

all: การมองเรื่องต่างจากคนอื่น ทำให้มีเรื่องเขียนได้เรื่อยๆ ด้วยหรือไม่คะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : อย่างพี่ไป ‘ลาดัก’ (แคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย) มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งที่สองก็ไปเจอเรื่องอะไรที่ครั้งแรกไม่เจอ ก็เลยมีเรื่องอยากเล่าอีก พี่ไม่ได้คิดเลยนะว่า เอ๊ย..เราเขียนเรื่อง ‘ใต้หมวกหิมะ’ ซึ่งเป็นเรื่องเที่ยวลาดักไปแล้ว แล้วไม่ควรจะเขียนเรื่อง ‘ลาดัก’ อีก หรือเราเขียนเรื่อง ‘อินเดีย’ แล้วจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ‘อินเดีย’ อีกแล้วจะซ้ำ ไม่ได้คิดอย่างนั้น ก็เราว่าเราเล่าไม่ซ้ำน่ะ

all: เขียนหนังสือมาหลายเล่ม มีเล่มไหนที่พี่คิดว่าเขียนยากที่สุด หรือใช้เวลานานที่สุดคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ถ้าใช้เวลานานก็คงเป็น ‘หัวใจติดแสตมป์’ เพราะใช้เวลาเก็บโปสการ์ดนานมากๆ ร่วมยี่สิบปี หรืออย่าง ‘ฉากรัก’ ก็มีภาพสีน้ำประกอบ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เรื่องที่คิดว่าเขียนยากที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง ‘บุคคลไม่สำคัญของโลก’ คือด้วยความที่เราใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่สำคัญของโลกเหล่านี้ เราก็รู้สึกว่าเขาเหล่านี้ตลก แต่เขาไม่ใช่ดาราที่คนทั่วไปรู้จัก มันจะเขียนยังไงให้คนที่ไม่รู้จักคนเหล่านี้ รู้สึกอย่างที่เรารู้สึก ตรงนี้คิดว่ายาก คนบางคนไม่ได้ตลกโปกฮาอย่างโน้ส อุดม แต่เป็นความตลกในมุมที่เรามองเขา แต่ถึงแม้ว่ายาก เราก็จะพยายามทำ เลยเขียนออกมา แล้วก็มีคนอ่านแล้วก็ขำเหมือนเรา แสดงว่าเขาเข้าใจ อย่าง ‘คมสัน นันทจิต’ อ่านเล่มนี้ แล้ววิ่งมาหาพี่บอกว่า ผมเจอคุณโอมแล้ว ทั้งๆ ที่เขาอ่านเรื่องของคุณโอมในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้รู้จักอะไรกันมาก่อน แต่พอวันหนึ่งเขาไปถ่ายงานด้วยกัน เลยวิ่งมาเล่าให้พี่ฟังว่า เจอคุณโอมแล้ว ตลกเหมือนในหนังสือเลย หรือมีบางคนมาบอกว่า ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง คิดว่าต้องเป็น ‘พี่ดาว’ คนที่พี่เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้แน่ๆ ก็แสดงว่ามีคนเข้าใจและรู้สึกในสิ่งที่เราเขียน (ยิ้ม)

all: อยากให้พี่ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่สนใจจะก้าวเข้ามาเป็นนักเขียนค่ะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : จุดเริ่มต้นของการเขียนคือการอยากเขียน อยากเล่า แต่จะเล่ายังไง มันก็ต้องมีกลวิธีในการเล่าสักหน่อย ซึ่งเราสามารถศึกษาได้จากการอ่านงานของคนอื่น ไม่เฉพาะเรื่องท่องเที่ยวนะ เรื่องสั้นก็ได้ นิยายก็ได้ ถ้าเราอ่านเยอะๆ เราจะแยกออกว่า การเขียนหนังสือที่ดี กับการเขียนหนังสือที่ไม่ดีต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นก็มาศึกษางานของคนที่เขียนดีว่าเขาเขียนอย่างไรถึงเข้าใจง่าย พี่มองว่า การที่เราจะนำเสนอเรื่องราวให้เข้าใจง่าย มันจะต้องผ่านการย่อย ซึ่งหมายความว่า เราแทบจะต้องกินไปหมดทั้งโต๊ะ แล้วย่อยอาหารเหล่านั้น จึงจะได้สารอาหารออกมา มันก็คือเราต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ต้องรู้เยอะๆ และอะไรที่เราเห็นว่ามันง่าย จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น เราเห็นนักเขียนคนหนึ่งเขียนหนังสืออ่านง่าย เพราะเขาใช้ภาษาง่ายๆ แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ แล้ว เราจะเห็นว่า ภาษาที่อ่านง่ายมันเป็นถ้อยคำที่ได้รับการคัดสรรและกลั่นกรองมาแล้ว มีการเรียบเรียงมาแล้ว เราจึงเข้าใจง่าย นี่คือวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง ...ทั้งหมดนี้คือความเข้าใจที่ถูกทิศทางและการลงทุนในการอ่าน ในการเรียนรู้ศึกษา คนที่ไม่เคยอ่านแต่เขียนหนังสือได้สนุกก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าถ้าเขียนไปเรื่อยๆ มันจะรู้ว่าที่เคยมีมันไม่พอ อาจจะได้แค่เล่มแรก หรือเล่มที่สอง หลังจากนั้นคุณต้องหาเพิ่มเติมแล้ว
แม้จะเป็นอะไรอยู่หลายอย่าง ถือครองหมวกอยู่หลายใบ
ทว่า หมวกที่ใหญ่ที่สวยที่สุดของเขา ก็คือ การเป็นนักคิดนักเขียน
ผู้ชายคนนี้ชื่อ ประภาส นามสกุล ชลศรานนท
เป็นผึ้งงานของเวิร์คพอยท์ เหมือนที่เคยเป็นแบ็คอัพ(ตัวจริง)ของเฉลียง
ประภาสไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ใหญ่มากนัก และนี่คือการสนทนาแบบยาวๆ ครั้งหนึ่ง ระหว่างเรากับเขา ไม่นานที่ผ่านมา

ในฐานะนักคิดนักเขียน มองประเทศไทยตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร

ตอน นี้ ส่วนใหญ่คนจะพูดว่าสิ้นหวัง ท้อแท้ โดยเฉพาะการเมืองที่ดูเหมือนไม่มีทางไป แต่ก่อนมันอาจจะดูออกว่าสองแยกสามแยกแล้วเดี๋ยวก็ถึงที่หมายเอง แต่ตอนนี้มันเป็นร้อยแยก และแต่ละแยกที่ดูแล้วก็เหมือนจะเป็นทางตันทั้งนั้น คนส่วนใหญ่จึงรู้สึกไม่มีหวัง ผมคิดว่าสุดท้ายเราน่าจะมองไปที่วัฒนธรรมของความเป็นคนไทย วัฒนธรรมไทยมันไม่เหมือนใครนะ อย่างการมองหน้าแล้วยิ้มๆ แล้วให้อภัยนั้น เราได้เอามาใช้กันบ้างหรือยัง  ผมว่าบ้านเราเนี่ย มีของดีที่สุดเลยก็คือวัฒนธรรม เรายังไม่เคยใช้วัฒนธรรมของเราจริงๆ มาเป็นอาวุธนะ

ในเชิงของการแก้ปัญหาหรือของการพัฒนาผู้คน
ทั้ง สองอย่าง ทั้งรุกและรับ ผมมองเรื่องศิลปะ เรื่องวัฒนธรรม ผมเคยคุยกับ ทอดด์ เขาบอกว่าเวลาเขามองวัฒนธรรมไทย เขาบอกเขาชอบอะไรบางอย่าง ชอบไลฟ์สไตล์แบบคนไทย

เขาชอบอะไร
การไม่จริงจัง แม้แต่โกรธก็ไม่จริงจัง ฟังเผินๆเหมือนโดนด่านะ แต่มาคิดอีกที ผมว่าการให้อภัยนั่นแหละ  ฟังดูชุ่ย แต่เวลามันตึงมากๆ  เรื่องแค้นกันนี่ชุ่ยๆกันบ้างก็ดี อย่าไปตึงนัก  เราเองเป็นคนไทยอยู่ใกล้มากจนลืมไปเหมือนกัน ว่าเราไม่เคยเคียดแค้นกันขนาดนี้นะ

เกิดมาเคยเจอแบบนี้ไหม
แบบ เอาจริงเอาจังจนตึงใช่มั้ย ผมไม่เคยยอมให้ตัวเองตึงขนาดนั้น เวลามันตึงก็เอาคำพระเข้ามาบอกว่า เออ ต้องหย่อนลงมาๆ หรือบางครั้งถ้ามันหย่อนมากๆ ก็เอาคำพระมา เออ ดึงให้มันตึงอีกหน่อย ปรัชญาทางสายกลางของพระพุทธเจ้านี่ไม่เชยนะ ผมว่ามันเหมาะกับบ้านเมืองเราที่สุด ยิ่งกับยุคนี้ยิ่งเหมาะ สุดท้ายถ้าตัวเองรู้สึกตึงมากๆ ผมกระโดดออกมาจากตัวเองมายืนดูตัวเองเลย แล้วก็สมเพชตัวเองว่า ตึงไปแล้วมันได้อะไร

ถ้าเลือกได้หรือมีเวทมนตร์คาถา อยากให้เชือกเส้นไหนที่มันตึง หย่อนลงมาบ้าง หมายถึงปัญหาอะไร
ปัญหา การเมืองตอนนี้มันตึงหนักสุด มันเหมือนจะไม่เผาผีกันหรือเปล่า (ยิ้ม) คนไทยเราไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะชาวบ้านร้านช่องหรือพ่อค้าแม่ขายอะไรก็ตาม บ้านเรามันไม่เคยรุนแรงแบบนี้นะ


เมื่อสักครู่พูดเรื่องเอาวัฒนธรรมมาเป็นอาวุธ

ผม มองอย่างนี้ ผมมองว่าของดีๆ ในบ้านเรานั้นมันมีเยอะเลยนะ เราน่าจะงัดมาใช้กันบ้าง อาวุธของอเมริกาคืออะไร รถถังปืนใหญ่ จรวด หรือ ไอ้ที่แรงกว่านั้นคืออะไร ผมมองว่าฮอลลีวู้ดนี่แหละคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดของอเมริกา เราดูหนังเราเห็นวิถีชีวิตของคนอเมริกา ฟังเพลงบลูส์  เพ ลงร็อค เพลงอาร์แอนด์บี นุ่งยีนส์ แม้แต่ท่าเต้นรำ อเมริกาส่งออกวัฒนธรรมให้คนทั้งโลกบริโภค ญี่ปุ่นเคยไม่ยอม แล้วก็ส่งออกวัฒนธรรมสู้ อย่างตอนนี้เกาหลีก็เริ่มส่งอาวุธของเขาโจมตีโลกแล้ว ดารานักร้อง ภาพยนตร์ แม้แต่ผักดองกิมจิ เขายังผูกเป็นเรื่องเป็นราว  มีคนบอกทำไมศิลปินบ้านเราไม่ทำงานอย่างฝรั่งอย่างเกาหลีญี่ปุ่นบ้าง

เอา จริงๆนะ ผมว่าศิลปิน บ้านเราเก่งนะ ทั้งพื้นบ้านทั้งร่วมสมัยทั้งโมเดิร์น ผมว่าเราไม่แพ้ใคร แล้วถามว่าเค้าอยากทำงานดีๆที่มันส่งผลถึงเรื่องวัฒนธรรมระดับโลกมั้ย อยากจนอกแทบแตก แต่เรื่องแบบนี้ มันเป็นเรื่องระดับประเทศ ระดับชาติ คิดง่ายๆ งบประมาณสร้างหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง สามารถสร้างหนังไทยทุกเรื่องไปยี่สิบปี งบสร้างหนังไทยเรื่องหนึ่งถ่ายฉากเล็กๆของหนังนอกได้ไม่ถึงครึ่งฉาก เราจะสู้เขายังไงไหว ศิลปินไทยที่มีโอหังในความเป็นชาติไทย ต้องดูแลตัวเอง กินแกลบเอง แล้วจะสู้เขาได้ยังไง เวลามีโอกาสพูดเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหน เขาก็จะบอกว่ามันมีเรื่องอื่นๆ ที่เป็นวาระแห่งชาติมากกว่านี้ แต่ผมว่าเรื่องนี้แหละที่ควรจะเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลเกาหลีเขามีกองทุนภาพยนตร์แล้วนะ

เช่นอะไรบ้าง ที่มองว่าเป็นของดีของไทย
มอง เห็นการเกษตรโดยเฉพาะเรื่องต้นไม้ มองเห็นวัฒนธรรม ของสองอย่างนี้ อย่างเกษตรนี่ พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวทรงมองเห็นมาตั้งนานแล้วว่า บ้านเรานี่ต้องเกษตร เกษตรเป็นจุดแข็งของประเทศเรา เราหลงไปเป็นนิกส์อยู่นั่น เหมือนเราถูกหลอกนะ อะไรต่อมิอะไรก็มาตั้งโรงงานที่นี่ จริงอยู่ ตัวเลขอะไรต่อมิอะไรทางเศรษฐกิจคงดีขึ้น แต่ตัวเลขด้านสิ่งแวดล้อมมันแย่ลง ที่สำคัญ ผู้คนทั้งระดับแรงงานและระดับความคิดหนีจากเกษตรมาหลงใหลกับนิกส์ไปหมด ส่วนเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย ผมว่าของเรากลมกล่อมจะตาย  เรา อยู่ตรงกลางระหว่างจีนกับอินเดีย คนไทยเป็นศิลปิน แล้วก็ผสมทุกอย่างแบบลงตัวกลมกล่อม ทั้งเพลง ภาพวาด นาฎศิลป์ แม้แต่การแพทย์แผนไทยนี่ก็เป็นวัฒนธรรมผสมที่แข็งแรงมากของเรา เราเป็นนักผสมที่เก่ง เพลงไทยเรามีสำเนียงลาว เขมร ญวน จีน เพราะๆทั้งนั้น

 ชนชั้นกลางมักมีบทบาทต่อการแก้ปัญหา แล้วตอนนี้
ผม ว่าเราต้องถามว่า ใครคือชนชั้นกลางแน่ๆ ตอนนี้มันมองไม่ออกว่า ใครคือชนชั้นกลาง ที่อยู่ในถนนใช่ไหม ที่อยู่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นใช่หรือเปล่า หรือคนที่นั่งเงียบๆท้อๆ อยู่ในบ้าน ใช่ชนชั้นกลางหรือเปล่า พวกที่อยู่ในตลาดนัดละ บางทีทุกคนจะบอกว่าตัวเองคือชนชั้นกลาง อันที่จริงไม่ว่าในสังคมไหน คนที่อยู่ในสัดส่วนที่เยอะที่สุด หรือกลางๆสุด เป็นคนมีบทบาทมากที่สุดอยู่แล้ว

มีความหวังกับอนาคตมั้ย
ผม ไม่สิ้นหวังนะ แต่ถามว่ามองเห็นมั้ย ตอบตรงๆก็ต้องบอกว่าตอนนี้มันมืด(หัวเราะ) มันเหมือนเราอยู่ในห้องมืดๆ แล้วไม่รู้จะออกทางไหน แต่รู้แหละมันมีประตูแน่ๆ อันที่จริงเราไม่ควรสิ้นหวังอะไรเลยนะ ไม่ว่ามันจะมืดแค่ไหน

งั้นตอนนี้บ้านเรามีสภาพเหมือนอะไร
มัน เหมือนบ้านเราเป็นโรงเรียน แล้วมีครูใหญ่คนหนึ่งบ้าปลูกต้นไม้ ก็เลยปลูกต้นไม้มันทั้งโรงเรียน ในสนามบอลก็ปลูก พออีกวันเปลี่ยนครูใหญ่ คนใหม่อยากให้กีฬาฟุตบอลเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน ก็สั่งให้ตัดต้นไม้ออก เพื่อให้เด็กนักเรียนเตะฟุตบอล ผมว่าบ้านเรามันเป็นแบบนี้ โครงการระยะยาวเราไม่มีเลย เอนทรานส์เปลี่ยนระบบแทบทุกสามสี่ปี เสาตอม่อรถไฟโด่เด่เต็มหมด เรื่องระบบขนส่งมวลชน ไม่มีใครรู้เลยว่าจะไปทางไหน ผู้คนก็เพิ่มมากขึ้น น้ำก็ท่วมทุกปี อย่าว่าแต่เรื่องเกษตรหรือเรื่องวัฒนธรรมเลย ธรรมนูญหลักของประเทศยังไม่รู้จะไปทางไหนเลย

เหมือนที่ครั้งหนึ่งนักการเมืองออกมาพูด หอศิลป์สำคัญกว่าสวนสาธารณะ สวนสาธารณะไม่สำคัญกว่าห้องสมุด ทั้งที่มันสำคัญทุกอย่าง
ใช่ มันสำคัญหมด เหมือนแม่คนหนึ่งไปคาดคั้นลูกชายว่า ลูกจะเลือกแฟนหรือเลือกแม่  ทำไม ต้องเลือก ทั้งๆที่สำหรับลูกชายแล้วมันสำคัญทั้งสองอย่างนี่ แล้วมันก็คนละเรื่องกันด้วย หลายเรื่องในบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ เหมาว่าเป็นเรื่องเดียวกัน



แต่เราก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรก่อนหลัง

ใช่ ครับ ต้องเรียงลำดับว่าอะไรสำคัญที่สุด แน่นอน รัฐธรรมนูญสำคัญที่สุด แต่ผมกำลังบอกว่า ต้องเรียงลำดับ แต่ไม่ใช่ไม่สนใจเลย หรือมองเห็นเป็นเรื่องเล็กๆ อย่าลืมนะครับ ในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กหรอก แม้แต่การเสียเวลาเลือกหัวหอมในตลาดของแม่บ้านผมก็ว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอาจจะมองว่า การที่เกาหลีส่งท่าเต้น ส่งพระเอกนักร้องเป็นสินค้าออก คงเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่เล่นนะครับ เขากำลังทำแบรนด์ของประเทศเขาอยู่นะครับ เมื่อก่อนเราพูดถึงเกาหลี รู้สึกยังไง แล้วเดี๋ยวนี้รู้สึกยังไง



ทำไมจึงมองว่าเกษตรเป็นอาวุธสำคัญของเรา

ถ้า มองอาวุธในการแง่ตั้งรับ แง่แก้ไขวิกฤติการณ์ความยากจน ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่ทำงานเกี่ยวกับงานส่งเสริมแนวคิดพอเพียงในแวดวงการ เกษตรคนหนึ่ง สำหรับคนเมืองหรือคนชั้นกลางมักมองว่า เกษตรคือชาวไร่ชาวนา คือสวนคือการทำนากุ้ง แต่เขาบอกว่าไม่ใช่  คำว่า เกษตรของเขาหมายถึงวิถีเกษตร การที่เราปลูกต้นไม้หน้าบ้านก็เป็นเกษตร การเด็ดกระถินริมรั้วมาจิ้มน้ำพริกก็เป็นเกษตร การเอาใบไม้มาฝังดินทำปุ๋ยใส่แปรงดอกไม้ก็เป็นเกษตร การเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ไปพร้อมๆกัน ไม่ต้องเลี้ยงเยอะก็เป็นเกษตร แล้วผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถอยู่ได้สบายด้วยวิถีนี้ เศรษฐกิจมันจะตกแค่ไหนก็อยู่ได้ ในหลวงท่านพระราชทานแนวคิดนี้มาตั้งนานแล้ว พวกเราไม่ได้เอาไปใช้เป็นรูปธรรมกันเอง

ส่วนถ้ามองในเชิงรุก  ทำไม ผมจึงมองประเทศเราเป็นมหาอำนาจด้านนี้ได้ ประเทศเราทั้งความชื้น ทั้งอุณหภูมิ กลางวันกลางคืนไม่ต่างกันมาก ฤดูแต่ละฤดูก็ไม่ต่างกันมาก มีเขามีทะเลมีที่ราบ พายุแรงๆพัดมาก็มีกำแพงกันไว้ให้ ดินอุดม แมลงยั้วเยี้ย ปลายุ่บยั่บ ปลูกอะไรก็ขึ้นหมด คนจีนสมัยไอ้หนุ่มซินตึ๊งนี่ โจษกันเลยว่าเมืองเสียมนี่เอาท่อนไม้ปัก ใบก็งอกแล้ว เอาง่ายๆเลยป่ารกร้างทิ้งไว้นี่  ผ่านไปห้าหกปี ต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นเอง สมุนไพรทั้งนั้น เดินบอกชื่อบอกสรรพคุณนี่บอกกันเป็นเดือนยังไม่ครบ มหาอำนาจด้านสมุนไพรนี่เราเป็นได้แน่นอน แต่รัฐต้องเน้นเรื่องความคิดและการสนับสนุน และต้องสร้างค่านิยมใหม่ให้ได้ว่า คนหนุ่มสาวที่มาเรียนเกษตรนี่ เท่ และรายได้ดี


จากที่พูดมาดูจะอิงกับเรื่องธรรมชาติ วิถีพื้นบ้าน
ผม เชื่อเรื่องต้นไม้ ผมเชื่อเรื่องธรรมชาติ เชื่อในพลังของมัน แม้แต่การทำงาน เวลาเราเข้าไปใกล้มัน มันมีพลังนะ แม้แต่การเขียนหนังสือเขียนเพลง ผมก็ชอบที่ลากเข้าไปหาธรรมชาติ ตอนที่ถาปัด จุฬาฯ เขารวมตัวจัดงานขึ้นมางานหนึ่ง เขาอยากให้ผมแต่งเพลงๆ หนึ่ง เกี่ยวกับพลังของคนทำงานสถาปนิก ซึ่งตอนนั้นผมพบว่าเวลาเขียนไปแตะเรื่องลม เรื่องฝน เรื่องแดดเรื่องอะไรนี่ มันมีพลังมากกว่า
 
 บ้านเมืองเป็นแบบนี้ แนวคิดของงานในวงการบันเทิงต้องเปลี่ยนมั้ย

ผม มองอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นสองหน่วย หน่วยแรกคือนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ ผู้ช่วย ตากล้อง นักแสดง ดนตรี ผมว่าตรงนี้เราไม่ขาด เราไม่แพ้ใครด้วยนะ ผมพูดไปถึงภาพยนตร์ดีกว่า ฝีมือนักปฏิบัติบ้านเรา ผมว่าดี นอกจากขาดเงินทุนแล้ว เรายังขาดอีกหน่วยหนึ่งคือ หน่วยความคิด หน่วยนักปราชญ์

แล้วทำไมวงการบันเทิงบ้านเราไม่มีนักปราญช์
ผมว่านักปราชญ์บ้านเราไม่สนใจวงการนี้ (หัวเราะ) หรือไม่คนในวงการนี้ไม่สนใจนักปราชญ์ แต่ถามว่าจำเป็นมั้ย  ผมว่าแนวความคิดของคนตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวความคิดแบบพุทธ เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของเรา


เด็กที่โตรุ่นคุณกับเด็กที่โตยุค facebook นั้น จินตนาการมันถูกคัดทิ้งไปเยอะไหม
จินตนาการแต่ละรุ่นมันน่าจะมีอยู่นะ  อย่าง คนรุ่นคุณเล่นม้าก้านกล้วย กับคนรุ่นนี้ที่เล่นคอมฯ เล่นของเล่นดิจิตอล ตรงนี้ผมมองว่า มันแตกต่างแค่เครื่องมือนะ ผมไม่มองว่ามันเป็นแก่นสารที่ทำให้จินตนาการหดหาย อาจจะมีบ้างที่ทำให้เสียนิสัย เช่นการค้นหาอะไรเจอง่ายๆในอินเตอร์เน็ต ส่วนที่เป็นต้นทุนของจินตนาการต่างหากที่เปลี่ยนไป จริงอยู่ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ แต่ถ้าไม่มีความรู้เลยจะจินตนาการยังไง วิชาหลายวิชาที่บังคับให้นักเรียนเรียนเปลี่ยนไป คนรุ่นผมมานั่งคุยกันถึงวิชาที่เคยถูกบังคับให้เรียนในตอนเด็กๆ แล้วไม่อยากเรียนเลยวันนั้น  แต่ถึงทุกวันนี้มันทำ ให้เราดื่มด่ำ และเขียนกลอนเป็นเพราะเราเรียนกลอนสุนทรภู่ไม่รู้กี่ปี หรืออย่างวิชาดนตรีผมยังจำตอนปีหนึ่งได้เลยว่า มันมีวิชา music appreciate

ตอนที่ผมลงเพราะผมชอบ the beatles และ ผมคิดว่าผมคงจะได้ฟังเพลงหลากหลาย แต่กลายเป็นว่าผมต้องไปฟังโมสาร์ท ฟังบีโธเฟ่น ถามว่าชอบมั้ย ตอนนั้นไม่ชอบมาก แค่บางเพลงที่ผมรู้จัก แต่รู้มั้ยว่า พอมาถึงวันนี้ เรากลับพบว่าไอ้ที่เรียนกันมาวันนู้น มันเป็นต้นทุนเป็นรากฐานอันสำคัญของจินตนาการที่เรามีวันนี้ หรือในยุคที่คนชอบอ่านหนังสืออย่างผมต้องวนเวียนอยู่ในร้านหนังสือ เพราะเราไม่มีอินเตอร์เน็ต เราจึงได้อ่านงานเขียนของ อัลแบร์ กามูส์ อ่านคำของระพินทรนาฎ ฐากูรอะไรนั้น บางทีมันทำให้เราค้นพบความงดงามของความทุกข์บ้าง ยิ่งกับในวัยหนุ่มวัยสาวที่ยังไม่ค่อยจะเจอทุกข์  แต่ สมัยนี้เหมือนกับว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสื่อ เรื่องวรรณกรรม เรื่องการเขียนบันทึกในบล็อก แม้แต่เพลงรัก มันทำให้คนสนใจแต่ตัวเองมากกว่า สนใจคนอื่นน้อย สนใจแค่คนข้างๆ ไม่กว้างออกไป


เคยเห็นเด็กหลายคนเอารูปตัวเอง 200-300 รูปยัดลงไปใน facebook
แต่ถ้าเป็นรุ่นเรา เราเขินนะที่จะทำแบบนั้น


โลกในยุค social network นั้น มันให้จุดดี-ด้อยอย่างไรกับรุ่นนี้
คง เหมือนเรื่องรีโมททีวีตอนที่เข้ามาใหม่ๆ บ้างก็ว่ามันคงทำให้คนเราขี้เกียจขึ้น ตอนนี้เราก็ชินไปแล้ว แต่ตอนนี้มันอาจจะหนักกว่า ตรงที่ทุกอย่างในโลกมันอยู่ในมือหมดเลย จะจ่ายเงิน จะเบิกเงิน จะส่งข่าว จะสั่งข้าว มันอยู่ในโทรศัพท์มือถือหมด ในยุคเรา ผมเคยได้ยินว่า เมื่อเราได้ยินเสียงชักรอกของน้ำขึ้นมา มันทำให้น้ำที่เราดื่มอร่อยขึ้น แต่ตอนนี้เป็นยุคของการกินน้ำที่เปิดแล้ว เอาหลอดเจาะเลย โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ

แล้วเราจะบอกอะไรกับเด็ก

เรา ต้องบอกเขาให้ได้ว่า สิ่งที่เขามีอยู่มันเป็นแค่เครื่องมือนะ แก่นสารจริงๆมันเป็นยังไงคุณต้องรู้นะ แม้แต่สิ่งที่คุณเห็นในเน็ตในจอสี่เหลี่ยมที่คุณได้มาง่ายๆนั้น มันเป็นแค่ความคิดเห็นนะ อย่าไปคิดว่ามันเป็นความจริงทั้งหมด แล้วก็ต้องบอกให้เขาหาโอกาสกินน้ำที่ได้ยินเสียงรอกบ้าง 

หมายความว่าเรามีรูปการกินน้ำที่ต่างกันได้ แต่เราต้องรู้รสน้ำให้ได้
ผมคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนั้นนะ

ความเป็นศิลปินและคนอ่อนไหวของ ประภาส ชลศรานนท์ นั้น เคยเบื่อบรรยากาศการเมืองจนทำให้อยากลาออกไปไหม
ผม ไม่อ่อนไหวขนาดนั้น อาจจะเคยบ้างตอนวัยหนุ่ม ตอนนั้นอาจจะร้อนแรงร้อนรุมบ้าง อาจจะมีบ้างที่เมื่อเราคิดงานอาร์ตๆ สักชิ้นหนึ่งแล้ว เรารู้สึกว่ามันดีอยู่แล้ว ไม่ควรแก้ ไม่ควรจะมีอะไรมาผสมลงไปอีก แต่เมื่อเราเรียนรู้ธุรกิจไปมากๆ เราจะเข้าใจว่า ถ้าเราไม่เข้าใจความเป็นธุรกิจบ้าง เราจะไม่สามารถเอางานศิลปะชิ้นนั้นไปสู่คนหมู่มากได้เลย งานที่เราคิดว่ามันสร้างสรรค์เสียเหลือเกินก็จะเป็นหมัน ไม่ได้คลอดออกมาให้คนเห็น

ลองยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ
เรา ทำเพลงป๊อปขึ้นมาสักชุดหนึ่ง เป็นของอ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ จากงานป๊อบชุดนี้มันสามารถทำให้เราไปทำงานของเฉลียงได้ แต่ถ้าเราเอาแต่จะปฏิเสธงานของ อ้อม ตั้งแต่แรก เราจะไม่มีวันได้ทำเฉลียงเลย และเมื่อคิดอย่างนั้น เราก็ทำงานของอ้อม อย่างสนุก แล้วมันก็สนุกและมีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องเสแสร้ง

คล้ายๆ คุณบัณฑิต ฤทธิ์ถกล เคยพูดว่าเขายอมทำ "บุญชูฯ" เพื่อได้ทำ "กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้"
แต่บุญชูฯ ก็เป็นงานที่ดีนะ ผมว่าคุณบัณฑิตแกคงทำงานบุญชูด้วยความสุขและสนุก

ถ้าไม่นับความสำเร็จของ "เวิร์คพอยท์" ก่อนหน้านั้นหลายปี อะไรเป็น turning point ของชีวิตคุณ
มัน รวมกันๆ หลายอย่าง ไม่สามารถบอกได้เลยว่า อะไรเป็นจุดเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผมเข้าใจตัวเองแบบนี้มาตั้งแต่เรียน ผมคิดว่าชีวิตมันต้องแบบอื่นๆ อีกมากมาย เหมือนเพลงที่แต่ง คือมันยังมีอะไรอย่างอื่นๆ อีกที่จะมองได้ ผมกลับไปมองงานตัวเอง แล้วก็งงๆ ว่าผมแต่งเพลงอื่นๆอีกมากมายเมื่อตอนเรียนจบใหม่ๆ แล้วก็ถามตัวเองว่า ผมแต่งเพลงนี้เมื่อตอนอายุ ยี่สิบต้นๆเองหรือ ผมว่าผมเข้าใจอะไรอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว โดยไม่รู้ตัว

 คล้ายกับว่า ปีนเขาด้วยเท้าไม่ไหว ก็ยังนั่งรถสลิงขึ้นไปได้
ใช่ๆ เราอาจจะเคยมีเงินนั่งรถทัวร์ แต่เราก็เคยโบกรถ เพราะมันมันส์ไง แล้ววันหนึ่ง แม้เราจะรู้ว่ามันยังมันส์ยังไง เราก็ไม่อยากโบกรถแล้ว เพราะสามารถนั่งรถของเราเองไปได้ ชีวิตมันก็เหมือนแบบนี้ มันมีหลายหนทาง เหมือนเรื่องปีนเขานั่นแหละ มนุษย์เราไม่น่าจะขังตัวเองกับอะไรที่เป็นเส้นทางเดียว และผมเห็นคนเป็นทุกข์กับอะไรแบบนี้มาเยอะ  ชีวิตไม่น่าจะเป็นแบบนั้นนะ


ประเทศไทยในอนาคต 5 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไร
ถ้ามองแบบธรรมดาแบบลบๆ หน่อย ก็คงจะเหมือนประเทศอื่นๆ ในโซนนี้  ที่ เติบโตตามแต่ที่ประเทศแม่เขาวางมาตรฐานไว้ ทั้งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจตามเขา ก็วิชานี้มันของเขา ก็คงกู้เงินกันไปมา แต่ถ้าผมถามตัวผมว่าอยากให้เป็นอย่างไรนั้นนะ ผมว่าเรามีของดีอยู่ เพราะเราสามารถเป็นมหาอำนาจบางด้านได้ ถ้าเรามุ่งด้านนี้  สร้างวิชาของเราเองขึ้นมาบ้าง วิชาพอเพียงที่ในหลวงท่านทรงพระราชทานมาให้นี่ ไม่ใช่วิชาของพวกตะวันตกนะ

เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องมั้ยว่า ผู้ชายคนนี้ไม่มีเวลาเป็น โก๋ ลำลูกกา เพราะวุ่นวายกับการเป็น ประภาส ชลศรานนท์
ถ้า มองว่า โก๋ ลำลูกกา คือไอ้หนุ่มลูกทุ่งแบบเฮๆ มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้าเป็นวันนี้ไอ้หนุ่มคนนั้นก็กลายเป็นลุงแก่ๆ เอามะขามเปียกกินกับยาดองอยู่ แต่เขาก็ยังเป็นโก๋ ลำลูกกาได้ อันที่จริง ตลอดการทำงานมา ผมเป็นประภาสมากกว่าโก๋ ลำลูกกานะ

แล้ว โก๋ ลำลูกกา เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กับ ประภาส วันนี้ ต่างกันอย่างไร
โก๋ นิ่งลง อาจจะรีแลกซ์มากขึ้น หัวใจที่เคยร้อนแรงในวัยหนุ่มมันเย็นลง เหมือนไฟในเตาที่ไม่ลุกโชน แต่บอกได้เลยว่าไม่มอด ผมยังมีความสุขทุกครั้งที่คิดโปรเจ็คท์ใหม่ๆขึ้นมา แต่ก่อนอยากทำนั่นอยากทำนี่แบบอยากแล้วจะทำเลย หกล้มมั่ง ไม่เหมาะกับยุคสมัยบ้าง ทะเลาะกับคนบ้าง  เดี๋ยวนี้อยากแล้วนั่งนึกก่อน  แล้วหาวิธีทำออกมาให้ดี ให้สำเร็จ ให้กลมกล่อม แล้วก็หาทางส่งเสริมคนรุ่นใหม่

แล้วคนชื่อประภาส แบ่งร่างเงาหัวโขนอย่างไร

จะ ว่าไป ผมเป็นพวกงานกับเล่นเป็นชิ้นเดียวกันอยู่แล้ว งานที่ผมรับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นพวกงานครีเอทีฟ แม้จะโจทย์ยาก ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นของเล่นที่ผมสนุกกับมัน ส่วนเรื่องงานบริหารผมก็ว่าไปตามสไตล์ของผม คือไม่มีฟอร์ม จะทำอะไรตัวเองต้องชอบและคนอื่นชอบด้วย

ส่วน เวลานอกงาน ผมคุยสนุกกับน้องๆที่ร่วมงานเหมือนเพื่อนเหมือนพี่เหมือนน้อง ยิ่งเวลาไปเฮๆ กับเพื่อนเก่าก็จะเหมือนคนเดิมครั้งยังหนุ่มเกือบเปี๊ยบ พวกผมเป็นอย่างนี้ เวลามาเจอกัน ไม่ว่าใครจะหมวกสูงหมวกใหญ่แค่ไหน ถ้ายังมัวแต่ใส่หมวกอะไรมาอยู่นะก็จะถูกตบหัวเอา (หัวเราะ) คนที่เรียนอาร์ตมันมันเป็นแบบนี้แหละ มีฟอร์มแล้วเด๋อ ใครยิ่งมีฟอร์มยิ่งตลก คนมันเคยนุ่งกางเกงในตัวเดียวนอนในมุ้งเดียวกัน ผมว่ามันไม่เปลี่ยนหรอก หมวกใครมีกี่ใบ นิสัยก็ไม่เปลี่ยนหรอก อาจจะมีแนวคิดบางอย่างลุ่มลึกขึ้น ซึ่งบางทีเราก็แลกเปลี่ยนกัน


ทำงานมากมายหลายอย่าง มีเวลาหาวัตถุดิบใส่ตัวจากตรงไหน
นี่หมายถึงเชื้อเพลิงหรือไฟ
 
เอา "ไฟ" แล้วกัลล์

ก็ตลอดเลยนะ แค่เดินมาดูคนหนุ่มสาวเล่นละครเวทีก็เหมือนจุดประกายไฟให้ มองเห็นภาพตัวเองอยู่บนเวที มองเห็นตัวเองเคยเขียนบท

แต่ก็เห็นเดินตรวจงานตามเวทีบ่อยๆ
เชื่อ มั้ยว่า ผมไม่ได้ตรวจอะไรเยอะเลย ผมอยากแค่มองภาพรวม แล้วก็อยากดู อยากหาความสุข ผมเป็นคนโปรดั๊กชั่นมาตั้งแต่เรียน การได้เห็นแสงได้ยินเสียง มันทำให้มีความสุข มันทำให้ไฟในใจประทุได้ คนทั่วไปมักจะเห็นผมทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เอามือจับคาง หรือเหม่อๆ  จริงๆ แล้วผมไม่เครียดอะไรเลย สีหน้าผมมันเป็นอย่างนั้นเอง อย่างที่บอกงานกับเล่นของผมมันเป็นอันเดียวกัน บางทีผมก็คิดเรื่องอื่นอยู่ บางทีผมก็แต่งเพลงอยู่ น้องๆบางคนคิดว่าผมเครียด ผมจริงจัง อันที่จริงจังน่ะผมจบมันไปตรงโต๊ะประชุมหมดแล้ว  ส่วนใหญ่นะ ผมไปนั่งดูแบบคนทั่วไปอย่างมีความสุข


ไม่เป็นคนแก่ที่รำคาญเด็กๆ
ไม่เลย ทุกครั้งที่เห็นพวกเขาทำงาน  กลับ มองเห็นภาพตัวเองในอดีต บางทียังคิดว่า ทุกวันนี้เราอายุเท่าไหร่วะ เราใส่หมวกของอะไรอยู่วะ สุดท้ายผมก็บอกตัวเองว่าผมแทบไม่รู้สึกแตกต่างอะไรกับเขาเลย

บางคนดูหงุดหงิดกับอาการของ "คนหนุ่มคนสาวร่วมสมัย"
ยิ่งผมเห็นคนหนุ่มคนสาวทำงาน ผมกลับกระปรี้กระเปร่าอยากทำงาน

คุณมีวิธี keep ตัวเองให้อยู่ในความเคลื่อนไหวกับความคิดคนหนุ่มสาวอย่างไร
มันเป็นธรรมชาติของผมเลย ผมเป็นแบบที่เขียนในเพลงอื่นๆ อีกมากมายของเฉลียง มาตั้งแต่เรียนหนังสือ  ผม ฟังเพลงได้ตั้งแต่เฮฟวี่ เมทัล ลูกทุ่ง ฟังแจ๊ส ฟังร็อค ฟังลูกกรุง ผมชอบดูหนังดูละครที่หนักมากๆ ขณะเดียวกันผมก็ชอบแบบตลกๆด้วย มันคือตัวตนของผมที่เป็นมาแบบนั้น ผมอ่านโดราเอมอนไปพร้อมๆ กับอ่าน อัลแบร์ กามูส์  จนถึงวันนี้ เรื่องที่คนหนุ่มสาวสมัยนี้สนใจ ผมก็สนใจ สนใจเหมือนตอนที่ฟังศรคีรี ศรีประจวบอยู่ แล้วมีคนเอาพิงฟรอยด์มาฟัง แล้วเราอยากฟังด้วย


เป็นแบบนั้นตั้งแต่อยู่ชลบุรี หรือมาอยู่ถาปัด จุฬา
เป็นแบบนั้นตั้งแต่เกิดนะ (หัวเราะกันครืน) แล้วยิ่งเจอไปเรื่อยๆ ยิ่งทำเวิร์คช็อปกับชีวิต ทุกวันนี้ ผมก็ยังอยากรู้ตลอดว่า อะไรคือ facebook ไอ้ เครื่องโทรศัพท์บีบีมันเอาไว้ทำอะไรได้บ้าง ทำไมเพลงยุคใหม่ต้องขึ้นเสียงสูงๆ มันมีโน้ตหรืออะไรที่เปลี่ยนสไตล์ไปหรือ หรือเพลงแร็พ ทำไมต้องแร็พ ผมชอบที่จะอยากรู้ว่า แก่นของแต่ละอย่างคืออะไร แล้วก็ไม่เคยรังเกียจศิลปะแขนงไหนเลย

ลูกทั้งสองคนอยู่ในวัยเรียน เป็นหนทางช่วยข้อมูลด้านยุคสมัยให้พ่อได้ไหม
เผอิญว่าทั้งสองคนเนี่ย จะมีลักษณะไม่เหมือนวัยรุ่นทั่วไป  สิ่ง ที่เขาชอบจะเป็น หนังดราม่า ฟังเพลงพวกออร์เคสตร้า ดูหนังการ์ตูนจิบลิ เขาไม่ได้เห่ออะไรทางไหนแรงๆแบบเป็นแฟนคลับใคร ส่วนเรื่องไอที พ่อกับลูกรู้พอๆกัน

คุณต้องใช้ความพยายามที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่ตลอดเวลาไหม

ผม ว่าผมไม่ได้พยายามจะเข้าใจ มันอาจจะเป็นตัวตนผม เป็นนิสัยที่ชอบที่จะเข้าใจอะไรต่อมิอะไร แล้วก็เป็นนิสัยที่มีความสุข ในวัยหนุ่ม ในกลุ่มเพื่อนๆ บางคนอาจจะรังเกียจละครของคณะนู้นคณะนี้  แต่ ผมไม่เคยรังเกียจ ผมชอบให้โอกาสตัวเองได้ลองชอบ โดยไม่ต้องพยายาม และก็ไม่ฝืนด้วย ผมไปตีสนุ๊กเกอร์ เพราะเพื่อนตี แต่ก็ไปฟังเพลงของอ.บรู๊ซ แกสตันด้วยนะ และถ้าชอบอันไหนมากกว่า ถ้ามันมาพร้อมกัน ถึงเลือก


แล้ว ประภาส มี facebook กับเล่น twitter ไหม
ไม่มี แต่รู้แล้วว่ามันคืออะไร ผมเล่น hi 5 บ้าง ต้องบอกว่าไม่ค่อยสนุกกับมันเท่าไร แต่รู้ว่ามันมีประโยชน์ ทวิตเตอร์ก็ด้วย เดี๋ยวจะลองเปิดดู แต่เดาว่าคงไม่เหมาะกับวิถีชีวิตเราเท่าไร

พ่อแม่หลายคนชอบแนะให้ลูกเรียนคณะที่เรียนมา คุณเป็นแบบนั้นไหม
ผม เคยแนะให้เขาอย่าเลือกคณะที่ผมเคยเรียนด้วยซ้ำ คือบอกทั้งทางเชียร์และทางค้าน สุดท้ายผมก็ให้เขาตัดสินใจกันเอง ผมจะทำแค่หาข้อมูลให้ หาทางให้เจอคนที่เรียนจบจากคณะหรือแผนกที่เขาสนใจ ให้ได้คุยกัน ให้มองทางเลือกเยอะๆ แล้วก็ให้เลือกเอง

 ลูกฟังเพลง "เฉลียง" ไหม
ฟัง ครับ บางทีมาอำๆ ว่า พ่อเขียนเพลงอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง (ยิ้ม) บางทีเขาอาจจะเข้าใจแต่อำผม เขาเล่นเปียโนเพลงของเฉลียงได้หลายเพลง เขาแกะเอง

แล้วคุณพ่อของลูกสองคน เป็นนักโหยหาอดีตไหม
ไม่ต่างจากคนอื่นๆหรอกครับ มันเป็นอาการแบบอยากกลับไปเห็นความสุขในวันนั้น  ไม่ ถึงขนาดโหยหามัน ว่างๆบางทีก็เอารูปเก่าๆมาดู รูปเพื่อนๆตอนวัยคะนอง รูปลูกตอนเล็กๆ เห็นแล้วความสุขในวันนั้นมันก็ลอยขึ้นมาได้ เครื่องย้อนเวลานี่มีจริงๆเสียด้วย แค่ดูรูปหรือฟังเพลง มันก็พาเราย้อนไปแล้ว บางครั้งถึงขนาดเอาหนังเก่าๆ มาดู

เช่นเรื่องอะไร
back to the future ภาค 2 เพราะ ผมจำความสุขตอนที่ดูในครั้งแรกได้ และพอเอามาดูนี่ ก็พบแผลในหนังเต็มไปหมด แต่ก็มีความสุขที่ได้ดู นี่เพิ่งเอาหนังเถียนมิมี่มาดูอีกครั้ง และก็ยังชอบอยู่..

แบบ..เหงาเมื่อเห็นนางเอกเศร้า และยิ้มได้..เมื่อเห็นนางเอกแกว่งเท้าบนจักรยานคนรักแล้วฮัมเพลง..
เออ เป็นอะไรแบบนั้น แล้วเถียนมิมี่นี่ก็มีแผลเต็มไปหมดเลย มันไม่ใช่หนังที่ดีที่สุดหรอกนะ แต่เป็นหนังที่ดูแล้วมีความสุข

คุณ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ของ Grammy ชอบ the sound of music, คุณ ปกรณ์ พงศ์วราภา CEO ของ GM ชอบ the god father แล้วหนังในดวงใจของ ประภาส ชลศรานนท์ คือ ?
ผม ชอบเรื่อง "ดวง" ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ มันเป็นหนังเรื่องแรกที่ผมไปดูด้วยตัวเอง นั่งรถสองแถวไปคนเดียว กลับมายังถูกแม่ตีแต่ก็มีความสุข ผมจำได้ว่าผมไปเพราะผมเคยดูเรื่องโทนแล้วชอบ ก็เห็นตรงใบปิดหนังว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้กำกับ พอมาเรื่องดวงเลยอยากไปดู ดวงเป็นเรื่องที่ดูในโรงหนัง แต่โทนเป็นเรื่องที่ผมดูในหนังกลางแปลง  หนังกลางแปลงสมัยก่อนนี่หนังจีนเยอะที่สุด
แล้ว ผมไม่ค่อยชอบดูหนังเกี่ยวกับจอมยุทธ์ เพราะมันจะเหมือนๆ กัน เดี๋ยวมันก็ไปล้างแค้นแล้ว คืออารมณ์ประมาณพ่อถูกฆ่าตาย ลูกหนีไปฝึกปรือวิชาเพื่อไปล้างแค้น เพื่อนมันถามว่าทำไม่ดู ผมก็บอกว่า เดี๋ยวมันไปฝึกวิชาและล้างแค้นให้พ่อ น่าเบื่อมาก ..จนกระทั่งมาดูโทน เราคิด หนังไทยมีแบบนี้ด้วยหรือ เลยจำชื่อ เปี๊ยก โปสเตอร์ ไว้

เมื่อกี้บอกว่าหนังเรื่องดวงเป็นเรื่องแรกที่ไปดูด้วยตัวเองที่โรงหนัง ยังจำชื่อโรงหนังได้ไหม
ชื่อ อพอลโล่ เออ ผมมีเรื่องจะเล่าด้วย (เขาขยับตัวจิบน้ำ ดูผ่อนคลายและสนุกในการเล่าเรื่องมากขึ้น) ที่โรงหนังอพอลโล่ เป็นสถานที่แรกในเมืองชลที่มีบันไดเลื่อนนะ โดยก่อนหน้านั้น พี่ชายผมเคยพาไปที่นั่นเพื่อไปขึ้นบันไดเลื่อนอย่างเดียว แล้วเด็กๆ ก็เข้าแถวเพื่อขึ้นบันไดเลื่อนเล่น ขึ้นแล้วก็วนใหม่แบบนั้น จนทางโรงมาไล่
 
การไปดูหนังบ่ายวันนั้นเหมือน adventure ของเด็กผู้ชาย ?
ผม ชวนเพื่อนไปดูด้วย แต่ไม่มีใครไป ผมเลยไปเอง กำตังค์มัดใส่เสื้อ แล้วจำได้ว่าจะต้องลงตรงไหน เพราะเคยไปแล้ว ผมว่า "ดวง" ไม่เหมือนหนังไทยเรื่องอื่นๆ ตัวอักษรเป็นกราฟฟิคโค้งๆ ยังจำได้ และให้ความสำคัญกับนักแสดงสมทบมาก ตอนนั้นไม่รู้ว่าหนังมันดีไหม แต่รู้ว่าตัวเองดูแล้วมีความสุข  จน ถึงวันนี้ ก็ไม่เคยมีโอกาสดูหนังเรื่องนั้นเป็นครั้งที่สองอีกเลย ไม่รู้จะไปหาที่ไหน แต่นึกถึงทุกครั้งก็มีความสุข และก็ยกให้เป็นหนังในดวงใจไปแล้ว จะว่าไปมันคงเหมือนเด็กชายที่เพิ่งแตกเนื้อหนุ่มคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนรถ โดยสาร แล้วก็เห็นว่าผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงข้ามนั้นน่ารักเหลือเกิน  แล้วเธอก็ลงรถไป แล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย แต่เมื่อนึกถึงก็ยังเห็นภาพความน่ารักของเธอไปตลอด ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม


คุณคิด "คุณพระช่วย" คุณทำอัลบั้ม "เยื่อไม้" คุณเป็นแฟนเพลงลูกทุ่ง "ศรคีรี" ..มันสะท้อนว่าคุณ "ผูกพัน" วัฒนธรรมไทย
อย่าง ที่ผมเคยบอกนะ ผมไม่ได้พยายามจะเป็น ทุกอย่างที่ผมเป็นผมไม่ได้พยายามจะเป็นเลย ผมเป็นลูกคนจีนที่ชลบุรี ผมมีเพื่อนเป็นเด็กวัดหลายคน  หลายๆ ครั้งไปนอนค้างกับเพื่อนถือปิ่นโตตามพระ ไม่กลับบ้านจนโดนแม่ตี หนองมนสมัยนั้นบ้านนอกนะ มีแต่เพลงลูกทุ่ง ที่วัดเวลามีงานก็มีแต่ลำตัด ลิเก ความบันเทิงใหญ่สุดคือหนังขายยา ปีๆหนึ่งก็รองานแห่เทียนพรรษา รอเล่นสงกรานต์ รอก่อกองทราย ทุกอย่างมันซึมซับเข้าตัวอย่างไม่รู้ตัวหรอก

มีเรื่องลุยๆ เฮๆ แล้วมีเรื่องโชคดีไหม ในแง่ของชีวิต
ผมโชดคีที่ผมได้เจอครูดีๆ  ผมได้เรียนกับอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ท่านปลูกฝังและจุดประกายความรักธรรมชาติให้ผม ตอนเรียนอยู่กับท่านก็ไม่เคยรู้สึกอะไรมาก มันคงเหมือนเมล็ดพืช อยู่ๆวันหนึ่งพอเราจะเขียนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่ท่านปลูกฝังเรา มันงอกใหญ่เลย แล้วก็ยังได้เจออาจารย์สดใส พันธุมโกมล ท่านนี้เหมือนกับเป็นผู้เปิดประตูให้ผมได้รู้จักศิลปะแขนงการแสดงอย่างจริงๆ ผมไม่ได้เรียนกับท่านในห้อง ได้เรียนกับท่านเพราะไปสมัครเล่นละครกับท่าน ก็เลยได้ครูพักลักจำบ้าง ได้สนทนากับท่านบ้าง ท่านไม่ได้สอนแต่เรื่องการแสดง ท่านสอนไปถึงวรรณศิลป์ สอนไปถึงเรื่องในใจของมนุษย์ แถมยังได้เจออาจารย์บรู๊ซ แกสตัน ผมโชคดีจริงๆที่มีครูดีๆเยอะ อาจารย์หลายท่านที่คณะถาปัด ก็สอนให้ผมรู้จักศิลปะของการมองภาพรวม

กลิ่นของวันวาน "อบอวล" ในการพูดคุยครั้งนี้ ถ้าให้เลือกของเล่นสักชิ้นในวัยเด็ก คุณเลือกอะไร ?
ลูกข่าง ! (ตอบทันที) แล้วคุณเลือกอะไร
ตัวตุ๊กตุ่นมัดลวด ทอยเส้น
อัน นี้รุ่นน้องๆ ผมแล้ว ผมว่าอย่างนี้นะ ผมว่าสมัยก่อน ของเล่นของเด็กที่มีตังค์กับของเล่นของเด็กที่ไม่มีตังค์ มันไม่ต่างกันมาก อ้อ มีอีกอย่างที่ไม่เคยเป็นเจ้าของมัน แต่นึกได้ว่าชอบมากก็คือ เรือป๊อปแป๊ก เรือสังกะสี ที่มันแล่นในน้ำได้ (คนรอบวง รวมทั้งผู้สัมภาษณ์พากันอธิบายที่มาของมันกันยกใหญ่) ผมตื่นเต้นกับมันนะ ไม่รู้ว่ามันแล่นได้ยังไงมันไปได้ยังไงนะ

คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ CEO ของ GTH บอกว่าอยากเป็น "สตรีเหล็ก" มากกว่าเป็น "นางไม้" คุณประภาส ชลศรานนท์ ล่ะ อยากเป็น เทวดาตกสวรรค์ หรือ มังกรไฟไม่เรียนหนังสือ
ผมไม่เป็นอะไรเลย (หัวเราะ) ผมไม่เป็นอะไรเลย จริงๆ  ไม่ เป็นสุธี(สามสี่ชาติ)ด้วย ผมล้วนสร้างตัวละครขึ้นมา และสุธีที่คนเข้าใจว่าเป็นผม จริงๆ ก็ไม่ใช่ผมเลย มันแค่แอนตี้ฮีโร่คนหนึ่งที่ผมสร้างขึ้นมา มันไม่มีส่วนผสมของผมเลย เทวดาตกสวรรค์ยิ่งไม่ใช่ ผมสร้างเขาขึ้นมาเพื่อต้องการถามอะไรบางอย่างสวรรรค์เท่านั้น  มังกรไฟก็เหมือนกัน มันไม่เรียนหนังสือใช่ไหม แต่ผมเป็นเด็กที่ชอบเรียนหนังสือมาก

เราสนทนากันอยู่ในโรงละคร M theatre น่าสังเกตว่าระยะหลังๆ เวิร์คพอยท์ ลงมาทำโชว์มากขึ้น เข้าใจได้ไหมว่า จะเป็นตลาดใหม่ของบริษัท
ถ้า มองในภาคอุตสาหกรรมแล้ว คอนเสิร์ตก็คือมีเดียหนึ่ง ฉะนั้น การทำคอนเสิร์ตกับการทำทีวีนั้น มันแตกต่างที่สดกับไม่สด แต่มันคือมีเดียอย่างหนึ่ง วิธีการคิดเหมือนกัน รายละเอียดอาจจะไม่เหมือนกัน เรื่องเวลาในการทำงาน แต่ที่สุดแล้วมันเหมือนกัน เหมือนเขียนเรื่องสั้น เหมือนแต่งเพลง ผมมองว่ามันคล้ายๆกันหมด

กดดันมั้ยเวลามีแฟนเฉลียงบ่นว่า มีใครคนอื่นเอาเพลงเฉลียงไปร้องเป็นอื่นๆ อีกมากมาย
ไม่ รู้สึกกดดัน แล้วยังเข้าใจพวกเขาด้วย เราพยายามจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า เพลงต้นแบบมันบันทึกเสียงไปแล้ว ถ้าของใหม่มันไม่ดีเท่า มันก็ยังมีของเก่าให้ฟังอยู่ ถ้าของใหม่มันดี ยิ่งบวก เพราะของเก่าก็ยังอยู่ ของใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา ถ่ายทอดต่อไปให้คนรุ่นใหม่ เหมือนเวลามีคนมาบอกว่า ไม่ชอบเลยถ้ามีคนเอา "สุธีสามสี่ชาติ" ไปทำใหม่ ผมก็จะบอกเขาว่า เอ้า ถ้าไม่อยากดูหรือไม่ชอบ หนังสือมันก็ยังอยู่ก็ไปอ่านหนังสือได้นะ ผมชอบการต่อยอด ผมยังเคยเอาเพลงสุนทราภรณ์มาทำใหม่เลย โรเมโอ จูเลียตเวอร์ชั่นล่าสุด ที่ผู้คนชอบกันก็คงไม่เกิด ถ้าแนวคิดว่าการทำใหม่มันไม่ดี เพราะบทละครเรื่องนี้กี่ร้อยปีมาแล้ว เวอร์ชั่นแรกก็คงเป็นละครเวทีที่ประเทศอังกฤษนู่น แต่ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่ยึดติดในของเก่านะ มันผูกพันกันมากกว่าชอบ มันเหมือนฟังบีจีส์น่ะ ไม่มีใครทำเสียงสูงได้แบบ the bee gees จริงๆ แต่มันแบบนี้ ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่เอามาร้องใหม่ อีกหน่อยใครจะรู้จักเพลงของบีจีส์  อย่าง ล่าสุด ละครเดอะเลเจนด์ออฟเร่ขายฝัน ที่ได้น้องๆเอเอฟมาเล่น มีคนพยายามค้านว่า เด็กๆพวกนี้จะร้องเพลงเฉลียงได้ดีหรือ ผมไม่คิดอย่างนั้นเลย ผมรู้เลยฝนกำลังตั้งเค้า  ใบอ่อนกำลังรอแทงยอด แล้วมันก็ออกมาดีสมใจ น้องๆร้องเพลงเฉลียงกันดีเหลือเกิน แฟนๆเพลงเฉลียงก็ยอมรับละครเพลงเรื่องนี้ดี


นี่คือวิธีคิดแบบอื่นๆ อีกมากมาย
ใช่ ถ้าชีวิตลองเปิดใจ คุณจะเจอของใหม่ไปเรื่อยๆ แล้วก็เจอความรู้สึกดีๆใหม่ๆด้วย

Thanks : http://www.oknation.net/blog/nantakwang/2010/01/17/entry-1
สำหรับคนอายุ 25 ปีขึ้นไปแล้ว แทบไม่มีใครไม่รู้จัก 'วงเฉลียง' ตัวโน้ตอารมณ์ดี ดนตรีแห่งศตวรรษที่แปดสิบที่ส่งอิทธิพลต่อคนรักเสียงเพลงมาถึงตอนนี้ไม่มาก ก็น้อย

และแน่นอนที่สุด แทบทุกคนรู้จัก "คุณจิก" , "พี่จิก" หรือ "ประภาส ชลศรานนท์"ผู้อยู่เบื้องหลังเฉลียงแทบทุกชุดแม้ว่าเขาจะไม่ปรากฏตัวร้องเพลง เล่นดนตรี อยู่หน้าเวทีกับเพื่อนๆ ก็ตาม

ด้วย ความเป็นคนช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ เป็นนักแต่งเพลง นักเขียน ซึ่งมักจะมีมุมมองแบบพิเศษเฉพาะตัว และสร้างความประทับใจใหเราเห็นอยู่โดยตลอด ทั้งด้านดนตรี เขียนหนังสือ หรือการผลิตรายการโทรทัศน์อย่างสร้างสรรค์

ทว่าเมื่อพูดถึงครอบครัวของเขาแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คนแทบไม่เคยรู้มาก่อน...

คุณจิกเป็นคุณพ่อของเด็กสองคนค่ะ ลูกสาวคนโตชื่อ 'น้องพุ่มข้าว' ลูกชายคนเล็กชื่อ 'น้องแสงแรก' ทั้งสองเป็นแก้วตาดวงใจของครอบครัว

....

มารู้จักเขาในบทบาทคุณพ่อ และมุมมองต่อเด็กๆ เยาวชนของชาติ

จากบทสัมภาษณ์ที่พี่จิกให้เวลามานั่งคุยกันกับเราค่ะ

" พี่จิกเลี้ยงลูกเองหรือเปล่าคะ แล้วเด็กๆใกล้ชิดกับแม่หรือพ่อมากกว่า"

นับตั้งแต่คุณเจดีย์ตั้งครรภ์ลูกคนแรก ผมก็เห่อเรื่องลูกเอมากๆ หนังสืออะไรที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก ผมก็หาซื้อมาอ่านกัน อะไรที่เขาว่ากินแล้วดีมีประโยชน์ก็หามาให้คุณเจดีย์กิน (ยิ้มเขิน)

การเลี้ยงลูกผมกับภรรยาก็เลี้ยงกันเองด้วยความเห่อ ไม่ว่าจะตื่นขึ้นมาเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เป็นผ้าให้ลูกคืนหนึ่งสิบกว่าผืนจนแทบ ไม่ได้นอนก็ทำมาแล้ว ผลัดกันคนละคืนจะตื่นมาดูลูกร้อง ทำด้วยความสุขทำด้วยความเห่อทำไปโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แล้วก็อนุรักษ์นิยมจนน่าหมันไส้ ไม่สนใจผ้าอ้อมสำเร็จรูปพวกแพมเพิสเลย ไปคิดเอาเองว่าเด็กคงนอนหมักอยู่ในฉี่ทั้งคืน จนคุณนก ฉัตรชัยซื้อมาฝากห่อแรกถึงได้บางอ้อ เลยได้หัดใช้ กว่าจะได้นอนเต็มอิ่มก็สามสี่เดือนไปแล้ว

ลูกทั้งสองคนผมกับคุณเจดีย์เลี้ยงเองครับ มีพี่เลี้ยงช่วยเลี้ยงตอนกลางวันอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ตอนกลางคืนลูกต้องนอนกับพ่อแม่ ไม่ใช่ลูกติดพ่อหรอก พ่อติดลูกมากกว่า (หัวเราะ)

ลูกสองคนสนิทกันมาก และสนิทกับทั้งพ่อทั้งแม่มาก ลูกสาวอาจจะสนิทกับแม่มากหน่อยย เพราะเขามีอะไรคุยกันกุ๊กกิ๊กตามประสาสาวๆ

ถึงทุกวันนี้ลูกสองคนกำลังเข้าวัยรุ่น ความเห่อลูกของผมก็ไม่เห็นสร่างซาเสียที ไปส่งโรงเรียนตอนเช้า ไปรับตอนเย็น ผมกับภรรยาก็แบ่งคิวกันไป เพราะลูกสองคนเรียนคนละที่

" ส่วนมากทุกคนรู้จักพี่จิกผ่านผลงาน ได้เห็นความคิดความอ่าน ทั้งความเป็นเฉลียง เป็นครีเอทีฟ หรือนักเขียน แล้วในบทบาทของพ่อ พี่จิกเป็นพ่อแบบไหนคะ"


ผมเป็นพ่อที่ป็นเพื่อนกับลูก ผมใช้คำนี้ได้เลยโดยไม่กระดากปาก (น้ำเสียงหนักแน่นมาก) ผมเล่นกับเขาแบบเด็กๆเล่นได้ ตอนที่ลูกยังเล็กผมก็ต่อเลโก้ ปั้นดินก่อทรายกับเขา ถึงตอนนี้เขาไปเล่นสเก็ตน้ำแข็ง ผมก็ไปเล่นด้วย อ่านการ์ตูนเรื่องเดียวกัน รู้จักเพื่อนของเขา รู้ว่าการ์ตูนตัวโปรดของเขาคือตัวไหน และก็เอามาล้อกันได้

"กิจกรรมแบบไหนที่ทำร่วมกันในครอบครัว"


ผมดูหนังโรงด้วยกัน ตอนกลางคืนคุณเจดีย์ชอบชวนลูกๆ ดูสารคดีทางเคเบิ้ลทีวี บ้านเราไม่มีใครดูละครหลังข่าวสักคน ไม่มีใครชอบเลย ลูกๆ ดูแล้วก็บอกว่าทำไมเขาด่ากันมากมายขนาดนี้ กินข้าวเย็นพร้อมๆ กับดูข่าวแล้วก็ขึ้นห้องนอน เล่นเกมบ้าง คุยกันบ้าง เล่นสแคร็บเบิ้ลบ้าง บางทีก็เล่นไพ่ตลกๆกัน แม่แต่คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ก็อยู่ในห้องนอนพ่อกับแม่ คุณเจดีย์เขาอยากให้อยู่ในสายตาก่อน ไม่อยากให้ไปหัวปักหัวปำกับการแช็ท อินเตอร์เน็ตนี่ใครก็ติดกันทั้งนั้น จริงไหม ถึงตีหนึ่งตีสองได้โดยไม่รูตัวทุกคนอย่าว่าแต่เด็กเลย ลูกๆก็เห็นดีด้วย จะซื้อให้ในห้องนอนของเขาคนละเครื่องก็ไม่เอา เขาบอกไม่เห็นต้องใช้เลย ใช้ของพ่อแม่ก็ได้

"กับกิจกรรมการอ่านของเด็ก คิดว่าคุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญและควรมีบทบาทเรื่องนี้แค่ไหน ทราบมาว่าน้องๆ ก็ชอบอ่านหนังสือด้วย"

เด็กจะไม่เป็นอย่างที่เราสอน เด็กจะเป็นอย่างที่เราทำ อยากสอนลูกให้พูดเพราะ ตัวเองต้องพูดเพราะก่อน อยากให้ลูกอ่านหนังสือ พ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกเห็นก่อน สอนปากเปียกปากแฉะแต่พ่อแม่ไม่ทำนี่ยากนะครับ บังเอิญผมกับคุณเจดีย์นี่ขาดหนังสือแทบไม่ได้ ลูกๆ เขาก็เห็นจนชินตา

"ได้ล้อมวงเล่านิทานด้วยกันหรือเปล่าคะ มีหนังสือนิทานเล่มไหนบ้างที่พี่จิกและน้องๆ ประทับใจเป็นพิเศษ"

พอเริ่มฟังภาษารู้เรื่อง ผมก็เล่านิทานให้ลูกฟังแล้ว ผมจะเล่าให้เขาฟังก่อนนอนจนเจ็ดแปดขวบนั่นแหละครับถึงหยุดไป น่าจะมีเป็นร้อยๆเรื่อง แต่งเองหมดแหละครับ อาศัยจากหนังสือภาพคงไม่พอ ลูกๆชอบนิทานมาก ยิ่งตอนเด็กๆนี่บางคืนจะขออีกเรื่องเพราะยังไม่ง่วง ผมก็แต่งเอาสดๆ หลายครั้งที่ผมเองเพลียมาจากที่ทำงาน เล่านิทานไปก็สัปหงกไป ไม่ปะติดปะต่อจนลูกๆจับได้ว่าพ่อมั่ว

เรื่องที่ลูกชอบมากคือเรื่อง "มังกรไฟไม่เรียนหนังสือ" เรื่องนี้นี่ผมแต่งเป็นนิทานประกอบเพลง ให้บัวไรนักเล่านิทานไปเล่าตามงานด้วยครับ น่าจะเคยได้ยินกันแล้ว เรื่องนี้สนุกครับ เล่าแล้วลูกไม่ยอมนอนเพราะจินตนาการตามจนตาค้าง ต้องเล่าอีกเรื่องที่เบาๆให้หลับฝันดี อีกเรื่องที่ลูกชอบคือ "ปลาดาวจอมคัน" เรื่องนี้ผมคิดว่าจะให้คนวาดทำเป็นสมุดภาพนิทานเหมือนกัน น่าจะสนุกดีสำหรับเด็กเล็ก

"อนาคตของเด็กกับความคาดหวังของพ่อแม่ พี่จิกรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้"

"เก่ง ดี แข็งแรง" พรสามข้ออันประเสริฐที่พ่อแม่อยากอย่างเราจะให้เขาได้ ให้ความรู้เขาให้ได้มากที่สุดในทุกๆด้าน เพื่อเขาจะได้ค้นพบตัวเองได้เร็ววัน แล้วก็อบรม ทำตัวให้เป็นตัวอย่างด้านจริยธรรมแก่เขา ส่วนเรื่องอาหารการกิน และเรื่องกีฬาก็อย่าไปมองข้าม เพราะหัวจิตหัวใจของคนเราจะดีได้นี่ ร่างกายก็ต้องพร้อมเหมือนกัน

จาก นั้นอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรมันก็เรื่องของเขาแล้ว เราเตรียมเขาให้เป็นคนคุณภาพต่อตัวเองและสังคมให้มากที่สุด ผมคิดอย่างนี้ ส่วนเขาจะเป็นอะไร เป็นอย่างไร พ่อแม่ไปขีดไม่ได้หรอกครับ ถึงขีดก็ขีดได้แผล็บเดียว ถ้ามันไม่ใช่ตัวเขา วันหนึ่งเขาก็หนี ถ้าขีดจริงๆก็คงได้แค่เส้นประ แล้วก็น่าจะขีดหลายๆเส้นให้เขาได้เลือกเดิน เราจะไปจูงเขาเดินได้สักกี่น้ำ ในที่สุดเขาก็ต้องเดินเองครับ หน้าที่ของพ่อแม่อย่างเราคือเตรียมเขาให้พร้อมที่สุด แล้วก็รอที่จะกอดเขาไม่ว่าเขาจะถึงเส้นชัยหรือล้มกลิ้งอยู่กลางทาง

.
ไม่รู้สิครับ คนเรามองความสำเร็จของมนุษย์อยู่ตรงไหน

สำหรับผมแล้ว การได้อยู่ในที่อากาศดีๆ กับคนรอบตัวที่เรารัก

และได้ทำงานที่เรารัก คือความสำเร็จสูงสุดของชีวิตแล้วครับ

.

.

เด็กๆจะเติบโตเป็นเมล็ดพันธ์ที่อุดมไปด้วยวิตามินบำรุงจากพรสามข้อ

"เก่ง ดี แข็งแรง"

เพราะท้ายที่สุดแล้ว พ่อแม่เพียงมอบความรัก ความอบอุ่น

แล้วถ้าอยากให้เขาเป็นอย่างไรละก็... อย่างที่พี่จิกบอก

.

"เด็กจะไม่เป็นอย่างที่เราสอน เด็กจะเป็นอย่างที่เราทำ"



ข้อมูลจาก : http://bentale.exteen.com/20070316/entry-1