อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณพ่อหัวหน้าพรรค

สัมภาษณ์โดย ครูอุ๋ย

ตอนนี้ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

ผม เป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และก็เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นก็เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยอยู่ 3 แห่ง ที่ มศว. ศิลปากร และก็เกษมบัณฑิต



ในหนึ่งวันทำอะไรบ้าง

โดย ทั่วๆ ไปแล้วเนี่ย งานการเมืองก็มักจะมีการประชุม ไม่ประชุมสภาก็ประชุมพรรค ประชุมคณะทำงาน ประชุมคณะผู้บริหารของพรรค อย่างนี้เป็นต้น รวมไปถึงสภามหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นแทบจะเรียกว่าถ้าวันธรรมดาเกือบทุกวันเนี่ยประชุมไม่ครึ่งวันก็ เต็มวัน นอกจากนั้นก็จะเป็นงานบริหารทั่วไป แล้วก็รวมไปถึงงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น ออกไปพบปะประชาชนในรูปแบบต่างๆ ออกไปเยี่ยมในนามพรรค ไปอภิปราย ไปสัมมนา การพบปะผู้คนที่เข้ามาเสนอข้อมูล ร้องทุกข์ ร้องเรียน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ก็ยังจะมีกิจกรรมในลักษณะนี้อยู่ แล้วแต่ว่าจะมีการเชิญมาหรือมีการจัดกิจกรรมในช่วงไหน อย่างไร ถ้าเป็นงานการเมืองอื่นๆ มันก็จะมีงานที่เข้ามาเป็นครั้งคราวด้วย เช่น เลือกตั้งซ่อม ประชุมสภาเป็นกรณีพิเศษบ้าง





ดูแล้วใน 7 วันเหมือนไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลย

ก็ ไม่เชิงอย่างนั้นซะทีเดียว ผมว่าเกือบทุกอาชีพการงานเดี๋ยวนี้จะมองว่าเป็นงานในเวลาแบบราชการหรือเวลา แปดครึ่งถึงสี่ครึ่งหรือเก้าโมงถึงห้าโมงเนี่ย คงไม่ถนัดทีเดียว จะเห็นว่ารูปแบบการทำงานขององค์กรต่างๆ เดี๋ยวนี้บางทีเรียกว่าแทรกเข้าไปอยู่เกือบจะทุกวัน ผมเห็นบริษัทห้างร้านกิจการต่างๆ ก็ยังต้องจัดกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด เช้าตรู่หรือหลังเวลาทำงาน ดูจะเป็นเรื่องปกติ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งผมเองก็มีปรัชญาชีวิตที่ชัดเจนว่าคนเราแต่ละคนเนี่ย มันมีทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตส่วนตัว ชีวิตการงาน เราต้องมีความสมดุลตรงนี้ เพราะฉะนั้นผมก็จะบริหารเวลา เพื่อมีเวลาให้กับครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ วันธรรมดาก็ต้องมีเวลาให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผมก็ยังไปส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าไม่มีงานที่ต้องออกไปต่างจังหวัด ผมก็พบว่าความ จริงการไปส่งลูกที่โรงเรียนก็สามารถทำให้เราเข้ามาทำงานได้ก่อนคนอื่นด้วย (หัวเราะ) และก็ขณะเดียวกัน งานที่สำคัญงานหนึ่งก็คือเราต้องเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ฉะนั้นก็ยังต้องพยายามกันเวลาสำหรับตัวเองในการที่จะสืบค้นข้อมูล ในการที่จะมีเวลามานั่งอ่าน นั่งคิด ในส่วนของเราเองด้วย



เวลาที่จะแบ่งให้ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเสาร์-อาทิตย์ ?

ไม่จำเป็น แต่เสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่ลูกๆ หรือภรรยาหยุด เราก็ต้องบริหารเวลาให้ได้ ใช้เวลาตรงนั้นกับครอบครัว





งานเยอะแบบนี้ดูแลสุขภาพอย่างไร

ผม ต้องยอมรับว่าการดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ยังขาดวินัยในเรื่องของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บางทีอาจจะเป็นความชะล่าใจเพราะยังคิดว่าอายุไม่มาก ตอนนี้พอเลขสี่ขึ้นก็เริ่มรู้ตัวว่าจะต้องใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ว่าสุขภาพจิตดีครับ เป็นคนไม่ค่อยเครียด ผมว่ามีส่วนอย่างมากทำให้สุขภาพโดยรวมดีด้วย ต่อไปอาจจะต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอนะครับ เพราะไม่งั้นอาจจะต้องสูญเสียวินัย ร่างกายก็จะทรุดโทรมเร็วเกินไป แต่ว่าเท่าที่ดูเวลาเขาเชิญไปเล่นฟุตบอลก็ยังเล่นได้อยู่ (หัวเราะ) ช่วงที่เป็นนักเรียน นักศึกษาก็จะเล่นกีฬาอยู่



ในครอบครัวดูแลสุขภาพกันอย่างไร

ลูกๆ ยังอยู่โรงเรียน เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีการออกกำลังอยู่แล้ว ส่วนภรรยาก็จะมีวินัยมากกว่าผมในการออกกำลังด้วยการเดินสายพานหรืออะไรแบบ นี้



เป็นเพราะเขามีเวลามากกว่าหรือเปล่า

เอ่อ...ผมว่าเป็นเรื่องวินัยมากกว่า (หัวเราะ)



ไม่ทราบลูกๆ ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้ว

15 กับ 12 ถึงโตแล้วแต่จะพูดว่าไม่ต้องดูแลมากก็คงจะไม่ได้นะครับ บางทีพ่อแม่ยุคนี้พอลูกเป็นวัยรุ่นอาจจะมีความวิตกกังวลมากขึ้นก็ได้



ในบทบาทของคุณพ่อ มีความรู้สึกอย่างไรกับการเลี้ยง ดูแลลูก

ผม อยากให้เขารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนเขา เราต้องเป็นแบบอย่างของเขา ปลูกฝังค่านิยมให้เขาได้ แต่ว่าในลักษณะที่ใกล้ชิดเราก็เป็นเพื่อนเขาได้ เพราะฉะนั้นเวลาเขามีอะไรอยากให้เขากล้าที่จะบอกเรา แล้วก็เห็นว่าเราให้ความรักและก็สนอกสนใจในสิ่งที่เขาทำ โดยไม่ไปก้าวก่ายมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเขาโตมากขึ้น



ห่วงใยลูกในเรื่องไหนมากที่สุด

ผมว่า...ธรรมชาติของคนเป็นพ่อนะครับ ก็ห่วงใยทุกเรื่อง อย่าง เช่นเวลาเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเนี่ยเราก็จะวิตกกังวลมากกว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เองด้วยซ้ำ อย่างนี้เป็นต้น และก็สังคมปัจจุบันเนี่ยมันก็มีภัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเราก็มีความเป็นห่วงเป็นธรรมดา



มีกิจกรรมที่ทำกับครอบครัวเป็นประจำหรือเปล่า

ก็ อย่างที่บอกนะครับว่า ไปส่งที่โรงเรียน ดูแลเรื่องการเรียนเขาระดับหนึ่ง เช่น ดูแลความรับผิดชอบเขาเรื่องการบ้าน การอ่านหนังสือ หรือการเตรียมตัวสอบ และก็พยายามสังเกตดูว่าเขาสนใจอะไร สามารถที่จะพูดคุยกับเขาได้ ช่วงไหนที่สามารถหยุดได้ยาวสักนิดหนึ่งก็พาไปเที่ยว อาจจะต่างจังหวัด หรือว่าต่างประเทศบ้าง แต่ว่าพอเขาโตขึ้นเนี่ย ปัญหาของการทำงานอย่างผมก็คือว่ามันตกอยู่ในสายตาของคน เขาก็จะเริ่มมีความลังเลที่จะไปไหนมาไหนกับเรา เพราะว่าเขาก็อยากจะมีความเป็นส่วนตัวอยู่บ้าง



การเลี้ยงลูกตอนเด็กกับตอนโตต่างกันอย่างไรบ้าง

คือ การเติบโตของคนเนี่ย มันก็ต้องการการดูแลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป คนมีลูกอ่อนก็ต้องตื่นมาชงนม ป้อนนมก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องปรับการนอนของตัวเอง พอเริ่มเข้าเรียนก็จะมีความจำเป็นที่ต้องไปดูแลเรื่องการปรับตัวองลูกๆ พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นก็ต้องดูเรื่องการคบหากับเพื่อน กิจกรรมต่างๆ ของเขา มันก็จะต้องการความสนใจการดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุของเขา



การเป็นหัวหน้าพรรคมีผลอย่างไรกับลูก

ลูกๆ เขาเติบโตมากับการที่เห็นพ่อเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นในความรับรู้ในความทรงจำของเขาก็คือผมเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ จำความได้ ฉะนั้นชีวิตของนักการเมืองจะเป็นหรือไม่เป็นหัวหน้าพรรคมันก็เหมือนกัน เพียงแต่ความรับผิดชอบมันก็อาจจะสูงขึ้น ภารกิจมากขึ้นในบางเรื่อง แต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นเรื่องที่ถือว่าแปลกหรือเป็น เรื่องพิเศษ



ความเป็นคุณพ่อที่เป็นนักการเมืองมีผลกับลูกหรือไม่ เช่นต่อไปลูกอาจจะโตมาแบบเรา

ไม่ ครับ ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงมีความเป็นตัวของตัวเอง ผมก็ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่เป็นนักการเมือง แล้วก็ที่ผมสังเกตดูลูกๆ ก็คือความถนัด ความสนใจของเขาก็ไม่ได้ตรงกับพ่อแม่ จะหนักไปทางด้านศิลปะมากกว่า เราก็ส่งเสริม แต่ว่าที่เราเป็นห่วงก็คือความเป็นนักการเมืองก็มีผลกระทบกับเขา อย่างที่พูดไปแล้ว เช่น การสูญเสียความเป็นส่วนตัวเวลาที่เราออกไปไหนมาไหน อาชีพการเมืองเนี่ยมันเป็นอาชีพที่มีคู่แข่ง ถ้าพูดให้หนักก็คือมีศัตรู ก็มีทั้งที่คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบ ไม่ชอบ ตรงนี้มันก็กระทบกับเขาด้วย เพราะว่าเขาก็อยู่ในสังคม

ในฐานะเป็นพ่อ คิดว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสุข

หนึ่ง ต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานก่อนว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้แต่ลูกของเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเหมือนกับเรา ทุกคนจะแตกต่างกัน มีความเป็นตัวของตัวเอง สอง ความรักความห่วงใย ถ้าเรามีความรักความห่วงใยเป็นที่ตั้ง แล้วก็อยู่บนเหตุผล ความพอดี ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นคุณ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความรักความห่วงใย แล้วก็ใช้เหตุใช้ผลกัน นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และก็สาม ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องส่งเสริมให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ที่สุดในแบบอย่างของเขา

Source: http://www.oknation.net/blog/kru-oui/2007/11/28/entry-1/comment#read


เมื่อคิดจะคุยกับ ‘นักเขียน-นักเดินทาง’ ชื่อของ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ อันเป็นนามปากกาของ ‘กาเหว่า-ชลลดา เตียวสุวรรณ’ ก็ขึ้นมาอยู่ลำดับต้นๆ เพราะ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ นับเป็น ‘ผู้หญิง(นักเขียน)นักเดินทาง’ ที่มีลีลาการเที่ยวแบบละมุมละไมเฉพาะตัว ในแบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เธอมักนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวเรื่องราวน่าสนใจระหว่างทางมาฝาก คนอ่าน และหลายครั้งที่จุดเล็กจุดน้อยเหล่านี้ ได้ ‘จุดประกาย’ ให้คนที่ติดตามอ่านงานของเธอ อยากไปเยือนเมืองต่างๆ เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเธอเคยได้ไปเยือน...

‘นัดพบนักเขียน’ ฉบับต้อนรับลมหนาวและการเดินทาง จึงขอนัดพบและพูดคุยกับ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ หรือ ‘พี่กาเหว่า’ ผู้เชื่อว่า ‘การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต’ คนนี้ค่ะ

all: นามปากกาเท่ๆ อย่าง ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ มีที่มาอย่างไรคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ถ้า เป็นคนที่อายุสัก 30 ปีขึ้นไป น่าจะเคยได้ดูละครซีรี่ส์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘ซามูไรพ่อลูกอ่อน’ ซึ่งซามูไรพ่อลูกอ่อนนี่จะมีท่าไม้ตายชื่อ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ ตอนเด็กๆ พี่ชอบดูเรื่องนี้มาก พอโตขึ้นมาเขียนหนังสือก็รู้สึกว่า เวลาเขียนหนังสือต้องมีนามปากกา เพราะใครๆ เขาก็มีกัน ชื่อ ‘เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย’ ก็ผุดขึ้นมา แล้วก็ใช้มาตลอด

all: พี่อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่าคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ไม่ ได้เริ่มเขียนหนังสือด้วยความคิดว่า ‘อยากเป็นนักเขียน’ แต่เริ่มด้วยความ ‘อยากเล่า อยากเขียน’ ตอนเด็กๆ เคยอยากเป็นนักดาราศาสตร์ อยากเป็นนักการทูต เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามประสาเด็ก แต่คงเป็นอานิสงส์จากการอ่านหนังสือเยอะมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กอ่านหนังสือเยอะมาก จะกางหนังสือพิมพ์กับพื้นแล้วเข้าไปนั่งอ่านตรงกลางเล่ม ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ให้คุณตาคุณยายฟัง ที่บ้านมีหนังสือเยอะมาก ตอนเด็กๆ ไม่เคยใช้บริการห้องสมุดเลย เพราะที่บ้านหนังสือเยอะกว่า (ยิ้ม) คุณแม่จะมีนิยายเป็นตู้ๆ น้าก็จะมีหนังสือการเมืองเป็นตู้ๆ เหมือนกัน เราก็เลยอาศัยอ่านหนังสือที่บ้านนี่แหละ และสิ่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ซื้อได้โดยไม่อั้นคือ หนังสือ อย่างของเล่นนี่ยังมีอั้นบ้าง อันไหนได้ อันไหนไม่ได้ แต่หนังสือซื้อได้ไม่อั้น ซึ่งที่บ้านรับนิตยสารเยอะมาก สกุลไทย ทานตะวัน บางกอก อสท. เยอะมาก และทุกวันนี้ก็ยังเยอะอยู่ (ยิ้ม) ชีวิตวัยเด็กก็เลยได้อ่านทั้งนิตยสารและนวนิยาย รู้เรื่องมั่งไม่รู้เรื่องมั่งก็อ่านไป ตามความเข้าใจของเราในวัยนั้นๆ

all: คิดว่าตัวเองชอบเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: น่า จะเริ่มมาจากเขียนจดหมายหาเพื่อนก่อน เพื่อนบอกว่า เขียนจดหมายสนุก แล้วก็ตอนวัยรุ่นชอบเขียนกลอนส่งไปตามรายการวิทยุที่เขาเอาไปอ่านออกอากาศ ตอนดึกๆ เราเขียนไป แล้วเขาก็อ่านออกอากาศ คือ... มันไม่ได้เขียนเพราะอยากเป็นนักเขียน มันเขียนด้วยความอยากเขียน อยากเล่า ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเขียนหนังสือด้วยความรู้สึกนั้น ถ้าไม่มีความอยากตรงนั้น มันก็คงไม่สนุก และเขียนออกมาก็คงอ่านไม่สนุกด้วย เรื่องสั้นที่ได้ตีพิมพ์เรื่องแรกเขียนเล่าเรื่องกิจกรรม ‘รับน้องรถไฟ’ จากหัวลำโพงไปเชียงใหม่ ตอนนั้นพี่สอบติดคณะบัญชี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่เขียนเป็นเรื่องสั้นในรูปของการเขียนจดหมายหาบก. ที่เขียนเพราะอยากเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น บก.นิตยสาร ‘ไปยาลใหญ่’ เขาก็คัดเลือกไปตีพิมพ์ เรื่องนี้ก็เอามารวมเล่มอยู่ในหนังสือ ‘สุขสันต์วันธรรมดา’

all: รู้สึกอย่างไรที่งานของตัวเองได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารยอดนิยมของวัยรุ่นในยุคนั้น
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ตอน นั้น ‘ไปยาลใหญ่’ เริ่มมีได้ประมาณปีหนึ่งแล้ว เราก็เป็นแฟนประจำ ซื้ออ่านตั้งแต่เล่มแรก พอเปิดมาเจอ.. เอ๊ย..นี่มันเรื่องของเรานี่หว่า (ยิ้ม) ก็รู้สึกว่า สิ่งที่เราเขียนมันคงใช้ได้ คงน่าอ่านพอประมาณ เขาถึงเอามาลง มันก็เลยทำให้เกิดแรงฮึกเหิมว่า เราคงจะเขียนหนังสือได้ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันก็ทำให้เราเขียนหนังสือต่อมาเรื่อยๆ

all: ทราบว่าพี่เริ่มต้นชีวิตทำงานที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ‘ไปยาลใหญ่’ ชีวิตช่วงนั้นสนุกมั้ยคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ก็สนุกนะ เหมือนไม่ได้มาทำงาน แล้วก็มีคนอ่านในช่วงนั้น ที่คิดว่าพวกเราจะตลกเหมือนในหนังสือตลอดเวลา พอมาเยี่ยมในออฟฟิศก็จะเห็นเรานั่งแกะเทปมั่ง วาดรูปมั่ง แบบว่า..ทำงานน่ะ เราไม่ได้นั่งเม้าท์กันตลอดเวลา บางคนมาเห็นก็อาจจะรู้สึกผิดหวังที่ไม่ตลกอย่างที่คิด ในออฟฟิศจะมีหนังสือเยอะมาก เป็นห้องสมุดกลางที่ใครจะยืมไปอ่านก็ได้ ส่วนมากจะเป็นสมบัติของพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) เวลาพี่จุ้ยอ่านหนังสือนี่ แกจะขีดจะเขียนความเห็นต่างๆ ไว้ในหนังสือ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย อันนี้จริง-อันนี้ไม่จริง แกจะใส่ความเห็นลงไปในหนังสือ เถียงกับหนังสือตลอด พอพวกเราเห็นก็จะชอบเอามาอ่าน แล้วพี่จุ้ยก็จะแนะนำหนังสือที่น่าอ่านให้อ่านอยู่เรื่อยๆ มันทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านขึ้น บางคนก็อาจจะชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่บางคนก็อาจจะไม่ชอบอ่านหนังสือเลย แต่พอมาเจอหนังสือที่นี่ เขาก็เกิดความรู้สึกว่า ต้องอ่านหนังสือที่นี่ให้หมด

all: นักเขียนหลายคนก็เกิดจากนิตยสารฉบับนี้
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: พอ เรามาอยู่ด้วยกัน มันก็เกิดการถ่ายเท แลกเปลี่ยนสิ่งที่อ่าน แลกเปลี่ยนความสนใจ เรื่องหนัง เรื่องละคร เรื่องเพลง เรื่องหนังสือหรือวรรณกรรมอะไรต่างๆ มันก็เลยหล่อหลอมให้คนที่ไม่เคยเขียนหนังสือรู้สึกอยากเขียน บางทีเค้าเห็นว่ามีเรื่องของพี่ได้ลงตีพิมพ์ ก็อยากเขียนมั่ง (ยิ้ม) บางคนก็ไม่ได้มาด้วยความเป็นนักเขียน อย่าง ‘โน้ส อุดม’ ‘พิง ลำพระเพลิง’ ที่เป็นฝ่ายศิลป์ ก็อยากเขียนบทกวี อยากเขียนเรื่องสั้น และวาดภาพประกอบเอง บางคนเขียนเสร็จแล้วก็เอาไปสอดไว้ใต้พิมพ์ดีดพี่จุ้ย หรือแอบเสนอต้นฉบับโดยเอาไปวางบนโต๊ะพี่จุ้ยก็มี มันก็เป็นบรรยากาศที่หล่อหลอมกันขึ้นมา

all: มาถึงเรื่องของการเขียนหนังสือกันบ้าง พี่เริ่มเขียนเรื่องท่องเที่ยวตั้งแต่เมื่อไหร่
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : พี่เป็นคนที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่เด็กๆ ตอนเล็กๆ คุณยายก็จะชอบพาไปโน่นไปนี่ เราก็จะคุ้นกับการไม่อยู่บ้าน ไม่นอนบ้าน กินอะไรก็ได้ นอนที่ไหนก็ได้ เป็นเด็กที่มี function เหมาะกับการเดินทางมาก (ยิ้ม) ไม่เมารถ ไม่เมาเรือ ใดๆ ทั้งสิ้น พอเข้าโรงเรียนก็เริ่มไปเที่ยวกับที่บ้าน ไปกับครอบครัว ไปเข้าป่า ไปทะเล พอโตขึ้นมาหน่อยก็เที่ยวกับเพื่อน ไปภูกระดึง ไปน้ำหนาว พอไปเรียนที่เชียงใหม่ก็ยิ่งมีที่เที่ยวเยอะขึ้น ซึ่งเราไม่ได้ไปเที่ยวเพียงเพราะเรามีเวลาว่างนะ แต่เราบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราโดยเราไม่รู้ตัว จริงๆ พี่เขียนพวกเรื่องสั้น บทโทรทัศน์มาก่อน แล้วก็ไม่เคยคิดว่าจะเขียนเรื่องท่องเที่ยว จนกระทั่งข้อมูลมันเยอะมากๆ เข้า เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากเล่า มันน่าสนุก เราไปโน่นมา ไปนี่มา มีเรื่องอยากเล่าเยอะ ก็เลยเขียนออกมา เล่มแรกที่ออกมาคือ ‘เหยียบโลกเล่นไม่เห็นช้ำ’ หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เขียนเรื่องท่องเที่ยวอีกนะ ไปเขียนเรื่อง ‘บุคคลไม่สำคัญของโลก’ เขียน ‘เอนหลังอ่าน’ เขียนบทความ Lifestyle Essay เขียนเบื้องหลังวงการทีวี ‘งดออกอากาศ’ จนกระทั่งอยากรู้ว่าเขียนเรื่องท่องเที่ยวจะมีคนอยากอ่านรึเปล่า ก็ออกมาเป็นคอลัมน์ ‘เด็ดดอกไม้ริมทาง’

all: ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้างคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: คือ พอเขียนไปแล้วมันก็มีคนอ่าน มีคนชอบ ก็รู้สึกว่าเรื่องท่องเที่ยวมันก็น่าอ่านเหมือนกัน เลยอยากเล่าต่อ ไม่เก็บไว้แล้ว ก็เลยเขียนมาเรื่อยๆ

all: ความเป็น ‘ผู้หญิง’ เคยสร้างปัญหาในการเดินทางบ้างไหมคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ที่ผ่านๆ มาก็ยังไม่เคยรู้สึกนะว่า ความเป็นผู้หญิงจะเป็นอุปสรรคอะไร เพราะพี่เดินทางมาตั้งแต่เด็ก มันก็เลยมีการเรียนรู้ มีทักษะในการอยู่การกิน การเอาตัวรอด การหาทาง อะไรแบบนี้ เวลาไปเที่ยวพี่ก็ไม่ได้คิดว่า พี่ไปผจญภัยอะไร เพราะว่าเราก็ไปในที่ที่คนอื่นเขาก็ไปกัน ชาวบ้านเขาก็นั่งรถโดยสารคันนี้ ไม่ใช่ไปในที่ที่ไม่มีใครไป บุกป่าฝ่าดง ไม่ใช่แบบนั้น พี่ไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องมีข้อมูลการเดินทาง มีแผนที่ให้รู้เหนือรู้ใต้ก่อนที่จะไป และต้องสังเกตสังกาว่าชาวบ้านเขาอยู่กัน เขากินกันยังไง ไม่ใช่แบบเขาเป็นมุสลิม แล้วเราไปแต่งตัวสายเดี่ยวกางเกงขาสั้น มันก็ไม่ใช่เรื่อง

all: พี่มีวิธีเก็บข้อมูลระหว่างทางยังไงบ้างคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ไม่มี.. นี่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ (ยิ้ม) เพราะพี่ไม่ใช่คนเขียนสารคดี ที่เขาจะไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่างน้อยก็จะต้องมีแผน มีโครงว่าตรงนั้นตรงนี้มีอะไรน่าสนใจ ไปที่นี่ควรจะไปสัมภาษณ์ใคร ถ่ายรูปตรงไหนจึงจะสวย แต่พี่ไปแบบไปเที่ยว แล้วก็ไปดูว่ามันมีอะไรที่เราสนใจ พี่ไปเที่ยวเกียวโต ไปเมืองอาราชิยามะ ที่อยู่ชานเมืองที่ใครๆ ก็ไปเที่ยวกัน เราก็ไปเห็นป้ายในวัด ‘มีอาหารกลางวันแบบเซ็น’ ราคาแพงมาก คิดเป็นเงินไทยประมาณ 900 กว่าบาท เราก็เออ..เป็นยังไงนะ อยากลอง เป็นความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวที่เข้ามาปะทะเรา ณ เวลานั้น ก็เลย..เอาน่ะ ลองดู ยอมทุ่มทุน... (ยิ้ม) ก็เข้าไปนั่งในห้องเรียบๆ ไม่มีอะไรเลย มีเสื่อปู ข้างนอกเป็นสวนญี่ปุ่น นิ่งๆ เงียบๆ แบบเซ็นไง (หัวเราะ) แล้วก็มีใบแนบสำรับสั้นๆ มาใบนึง ว่าหลักการกินแบบเซ็นเป็นยังไง ที่มาและความเชื่อแบบเซ็นเป็นยังไง อาหารทำมาจากอะไรบ้าง ก็เลยสนุก.. เพราะมันมีเรื่องราว มีสตอรี่ ชิมนั่น ชิมนี่ คืออาหารญี่ปุ่นมันจะมีหลายอย่าง แต่อย่างละนิด เค้าให้ข้าวมาครึ่งถ้วย เราก็คิดในใจว่า มันจะอิ่มมั้ยเนี่ย เพราะบ่ายสองแล้วยังไม่ได้กินอะไรเลย แต่ก็กินจนหมด เหลือแต่ใบไม้ที่เขาห่ออาหารมา ซึ่งมันก็อิ่มนะ วันนั้นไม่ต้องกินข้าวเย็นเลย พอกลับมาเราก็เลยเขียนเรื่อง ‘กินข้าววัด’ แทนเรื่องไปเที่ยวเกียวโต คือมันจะได้เรื่องแบบนี้มาเขียนมากกว่า ซึ่งถ้าใครมีจริตที่ตรงกับเรา เขาก็คงคิดเหมือนเราว่าเรื่องมันน่าสนใจ

all: เน้นการเก็บเรื่องราวน่าสนใจของการเดินทางช่วงนั้นๆ มาเขียนมากกว่า
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: อย่าง พี่ไปเสียมเรียบ ก็ไปเที่ยวนครวัดนครธมเหมือนกับคนอื่นๆ แต่พี่ไปเจอจุลสารท้องถิ่นใบเล็กๆ ที่เขาแจกฟรีในเกสต์เฮาส์ เขาเขียนถึงพิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิด อยู่ในซอยเล็กๆ ตรงข้ามโรงแรมโซฟิเทล มีทุ่งสังหารให้ลองเดินด้วย เราก็คิดในใจว่า เออ..มันส์ดีเว้ย (ยิ้ม) ก็เลยเรียกสามล้อไป ก็ไปเจอบ้านคนเป็นแบบบ้านดินอัดแน่น เจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ชายเขาก็เล่าว่าเขาเคยรบให้กับเขมร พอสงครามสิ้นสุด เขาก็ทำงานกับองค์การสหประชาชาติในการกู้ระเบิด เขาก็ออกไปกู้ระเบิดทุกวัน พอได้ระเบิดกลับมาก็ไม่รู้จะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน เลยเอามาเก็บไว้ที่บ้าน สุดท้ายก็เลยเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ของตัวเอง พอกลับมาพี่ก็เขียนเรื่องไปเดินในสวนฝรั่งที่มีทุ่นระเบิดฝังอยู่ (ยิ้ม)

all: ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างจากนักเขียนเรื่องท่องเที่ยวคนอื่นๆ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย: ด้วยความที่เราไปเที่ยวแบบมีเวลาซอกแซก และด้วยความสนใจของเราที่มันเป็นแบบนี้ ก็เลยได้เรื่องแบบนี้ออกมา แต่ถ้าเราไปแบบทัวร์ที่มีคนจัดการทุกอย่างให้ ก็คงไม่ได้เรื่องแบบนี้มาเขียน ถ้าไปเที่ยวแล้วต้องนั่งกินข้าวแต่ในโรงแรม พี่จะทรมานมากกกก (ลากเสียง) ต้องหาทางหนีออกจากโรงแรม ไปเดินตลาด ไปกินโจ๊ก ตรงนี้มันเป็นจริตส่วนตัว...

all: การมองเรื่องต่างจากคนอื่น ทำให้มีเรื่องเขียนได้เรื่อยๆ ด้วยหรือไม่คะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : อย่างพี่ไป ‘ลาดัก’ (แคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย) มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งที่สองก็ไปเจอเรื่องอะไรที่ครั้งแรกไม่เจอ ก็เลยมีเรื่องอยากเล่าอีก พี่ไม่ได้คิดเลยนะว่า เอ๊ย..เราเขียนเรื่อง ‘ใต้หมวกหิมะ’ ซึ่งเป็นเรื่องเที่ยวลาดักไปแล้ว แล้วไม่ควรจะเขียนเรื่อง ‘ลาดัก’ อีก หรือเราเขียนเรื่อง ‘อินเดีย’ แล้วจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ ‘อินเดีย’ อีกแล้วจะซ้ำ ไม่ได้คิดอย่างนั้น ก็เราว่าเราเล่าไม่ซ้ำน่ะ

all: เขียนหนังสือมาหลายเล่ม มีเล่มไหนที่พี่คิดว่าเขียนยากที่สุด หรือใช้เวลานานที่สุดคะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : ถ้าใช้เวลานานก็คงเป็น ‘หัวใจติดแสตมป์’ เพราะใช้เวลาเก็บโปสการ์ดนานมากๆ ร่วมยี่สิบปี หรืออย่าง ‘ฉากรัก’ ก็มีภาพสีน้ำประกอบ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เรื่องที่คิดว่าเขียนยากที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง ‘บุคคลไม่สำคัญของโลก’ คือด้วยความที่เราใกล้ชิดกับบุคคลที่ไม่สำคัญของโลกเหล่านี้ เราก็รู้สึกว่าเขาเหล่านี้ตลก แต่เขาไม่ใช่ดาราที่คนทั่วไปรู้จัก มันจะเขียนยังไงให้คนที่ไม่รู้จักคนเหล่านี้ รู้สึกอย่างที่เรารู้สึก ตรงนี้คิดว่ายาก คนบางคนไม่ได้ตลกโปกฮาอย่างโน้ส อุดม แต่เป็นความตลกในมุมที่เรามองเขา แต่ถึงแม้ว่ายาก เราก็จะพยายามทำ เลยเขียนออกมา แล้วก็มีคนอ่านแล้วก็ขำเหมือนเรา แสดงว่าเขาเข้าใจ อย่าง ‘คมสัน นันทจิต’ อ่านเล่มนี้ แล้ววิ่งมาหาพี่บอกว่า ผมเจอคุณโอมแล้ว ทั้งๆ ที่เขาอ่านเรื่องของคุณโอมในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้รู้จักอะไรกันมาก่อน แต่พอวันหนึ่งเขาไปถ่ายงานด้วยกัน เลยวิ่งมาเล่าให้พี่ฟังว่า เจอคุณโอมแล้ว ตลกเหมือนในหนังสือเลย หรือมีบางคนมาบอกว่า ไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง คิดว่าต้องเป็น ‘พี่ดาว’ คนที่พี่เขียนถึงในหนังสือเล่มนี้แน่ๆ ก็แสดงว่ามีคนเข้าใจและรู้สึกในสิ่งที่เราเขียน (ยิ้ม)

all: อยากให้พี่ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่สนใจจะก้าวเข้ามาเป็นนักเขียนค่ะ
เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย : จุดเริ่มต้นของการเขียนคือการอยากเขียน อยากเล่า แต่จะเล่ายังไง มันก็ต้องมีกลวิธีในการเล่าสักหน่อย ซึ่งเราสามารถศึกษาได้จากการอ่านงานของคนอื่น ไม่เฉพาะเรื่องท่องเที่ยวนะ เรื่องสั้นก็ได้ นิยายก็ได้ ถ้าเราอ่านเยอะๆ เราจะแยกออกว่า การเขียนหนังสือที่ดี กับการเขียนหนังสือที่ไม่ดีต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นก็มาศึกษางานของคนที่เขียนดีว่าเขาเขียนอย่างไรถึงเข้าใจง่าย พี่มองว่า การที่เราจะนำเสนอเรื่องราวให้เข้าใจง่าย มันจะต้องผ่านการย่อย ซึ่งหมายความว่า เราแทบจะต้องกินไปหมดทั้งโต๊ะ แล้วย่อยอาหารเหล่านั้น จึงจะได้สารอาหารออกมา มันก็คือเราต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ต้องรู้เยอะๆ และอะไรที่เราเห็นว่ามันง่าย จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น เราเห็นนักเขียนคนหนึ่งเขียนหนังสืออ่านง่าย เพราะเขาใช้ภาษาง่ายๆ แต่ถ้ามาดูกันจริงๆ แล้ว เราจะเห็นว่า ภาษาที่อ่านง่ายมันเป็นถ้อยคำที่ได้รับการคัดสรรและกลั่นกรองมาแล้ว มีการเรียบเรียงมาแล้ว เราจึงเข้าใจง่าย นี่คือวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง ...ทั้งหมดนี้คือความเข้าใจที่ถูกทิศทางและการลงทุนในการอ่าน ในการเรียนรู้ศึกษา คนที่ไม่เคยอ่านแต่เขียนหนังสือได้สนุกก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าถ้าเขียนไปเรื่อยๆ มันจะรู้ว่าที่เคยมีมันไม่พอ อาจจะได้แค่เล่มแรก หรือเล่มที่สอง หลังจากนั้นคุณต้องหาเพิ่มเติมแล้ว